ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างแรงจูงใจ ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
นงลักษณ์ เมธากาญจนศักดิ์, วิลาวรรณ พันธุ์พฤกษ์, ศศิธร กรุณา*, สุจิตรา ลิ้มอำนวยลาภ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างแรงจูงใจ ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยประยุกต์ทฤษฎีแรงจูงใจป้องกันโรคของโรเจอร์มาเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพชุมชนโนนม่วง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น จำนวน 30 ราย คัดเลือกโดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างง่าย และแบ่งเข้าสู่กลุ่มทดลอง 15 ราย กลุ่มควบคุม 15 ราย โดยการสุ่ม กลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติจากทีมดูแลสุขภาพเดิมของผู้ป่วย ส่วนกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างแรงจูงใจ ซึ่งผู้วิจัยสร้างเองตามแนวคิดทฤษฎีแรงจูงใจ ป้องกันโรคของโรเจอร์ โดยแบ่งการจัดออกเป็น 3 โปรแกรมย่อย ได้แก่ (1) เสริมสร้างความตั้งใจในการปฏิบัติตัว (2) ลดอุปสรรคในการปฏิบัติตัว และ (3) เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองในการปฏิบัติตัว ดำเนินกิจกรรมรายกลุ่ม โดยการอภิปรายกลุ่ม การนำเสนอตัวแบบสัญลักษณ์ การพูดจูงใจโดยผู้วิจัย และกิจกรรมรายบุคคล โดยการติดตามเยี่ยมบ้าน การโทรศัพท์ ใช้ระยะเวลา 12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบบันทึกพฤติกรรมผู้ป่วย แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจาการทบทวนวรรณกรรม ผู้วิจัยได้ดำเนินการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และหาค่าความเที่ยงของแบบสัมภาษณ์ ได้ค่า                 สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.75 ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม 2549 ถึงเดือนกรกฎาคม 2549 กลุ่มตัวอย่างได้รับการประเมินพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และประเมินระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) ทั้งก่อนและหลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (Independent sample t test, Paired-sample t test) ผลการวิจัย มีดังนี้ (1) กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมแรงจูงใจ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งโดยรวมและรายด้านสูงกว่า  ก่อนได้รับโปรแกรม และสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P < 0.05) และ (2) กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับโปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจ มีค่าเฉลี่ยของระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C) ต่ำกว่า ก่อนได้รับโปรแกรม และต่ำกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P < 0.05) ดังนั้น ควรนำโปรแกรมการเสริมสร้างแรงจูงใจนี้ ไปใช้ส่งเสริมพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ที่มา
วารสารวิจัย มข. ฉบับบัณฑิตศึกษา ปี 2549, ปีที่: 6 ฉบับที่ Supplement หน้า 91-101
คำสำคัญ
Blood glucose control, Motivational program, Type 2 diabetic patients, การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, โปรแกรมเสริมสร้างแรงจูงใจ