ผลการร่วมกิจกรรมกลุ่มต่อการควบคุมโรคและดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน
วินัย เภตรานุวัฒน์Prachathipat Hospital, Pathum Thani Province
บทคัดย่อ
โรคเบาหวานยังเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ที่ต้องการรักษาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักของผลการรักษาล้มเหลวเกิดจากพฤตกรรมของผู้ป่วย การรักษาและควบคุมโรคให้ได้ผลจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยควบคู่ไปกับการรักษาโดยการใช้ยา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการสอนตามปรกติ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลินที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2549 – พฤษภาคม 2550 จำนวน 88 ราย ผู้วิจัยได้สุ่มตัวอย่างอย่างง่ายแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มละ 44 คนเท่ากัน กลุ่มทดลองแบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 8-11 คน เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มช่วยตนเอง จำนวน 3 ครั้ง ทุก 4 สัปดาห์ ครั้งละ 40 นาที ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบได้รับการสอนตามปรกติ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ก่อนและหลังการทดลองทั้งสองกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างด้วยการทดสอบทีจับคู่ และการทดสอบที โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows ผลการวิจัยแสดงว่าภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มช่วยตนเอง กลุ่มศึกษามีความสามารถในการดูแลตนเองดีขึ้นกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และดีกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ได้รับการสอนตามปรกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน ผู้วิจัยอธิบายว่าการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วยที่มีปัญหาความเจ็บป่วยคล้ายกัน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แสดงความคิดเห็น และหาแนวทางแก้ปัญหาระหว่างกันและกัน และมีกลุ่มสมาชิกที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดแรงจูงใจให้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถปรับพฤติกรรมได้ และยังสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ด้วย ผู้วิจัยมีความเห็นว่าควรขยายผลไปสู่กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี และโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่มารับบริการในโรงพยาบาลและขยายผลไปสู่ชุมชน เช่น ก่อตั้งหน่วยบำบัดปฐมภูมิในความรับผิดชอบของโรงพยาบาล สร้างเครือข่ายกลุ่มดูแลตนเองหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน ช่วยผู้ป่วยให้พึ่งพาตนเองในเรื่องที่สามารถทำได้เอง โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่มากำกับดูแล และส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มช่วยตนเองของผู้ป่วยให้ยั่งยืนต่อไป นำมาเป็นรูปแบบแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนางานของโรงพยาบาลในด้านให้บริการประชาชนให้มีสุขภาพดีได้ต่อไป
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2551, January-March
ปีที่: 2 ฉบับที่ 1 หน้า 623-630
คำสำคัญ
Diabetic control, Non-insulin dependent diabetes mellitus, Self-help group, กิจกรรมกลุ่มช่วยตนเอง, โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน, โรงพยาบาลประชาธิปัตย์