การศึกษาโดยวิธีสุ่มของการให้ยาเมเฟนามิค แอซิด เปรียบเทียบกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูกเพื่อระงับปวดในการขูดมดลูกที่แผนกผู้ป่วยนอก
ประนอม บุพศิริ*, วิไลวรรณ อยู่สุข, เสาวนีย์ ตั้งมโนวุฒิกุลDepartment of OB-GYN, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002 Thailand. Phone: 0-4320-2489, Fax: 0-4334-8395, E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการลดปวดของยาเมเฟนามิค แอซิด ที่ใช้เป็นยาเบื้องต้นก่อนขูดมดลูก 2 ชั่วโมงเปรียบเทียบกับการฉีดยาชาข้างปากมดลูก วัสดุและวิธีการ: ได้ทำการศึกษาสตรีที่มีปัญหาเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่มีอายุ > 40 ปี ที่มาพบแพทย์ที่แผนกผู้ป่วยนอกนรีเวชกรรม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 โดยที่แพทย์เห็นสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัย หรือการรักษาด้วยการขูดมดลูก จำนวน 87 ราย ทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างโดยวิธี simple randomization เป็น 2 กลุ่ม ผู้ที่ได้รับการฉีดยาชาระงับปวดข้างปากมดลูกตามปกติมีจำนวน 44 ราย และกลุ่มที่รับประทาน ยาเมเฟนามิค แอซิด 500 มิลลิกรัมก่อนขูดมดลูก 2 ชั่วโมง จำนวน 43 ราย ตัววัด: ระดับความเจ็บปวดโดยใช้ visual analogue scale (VAS) ช่วงคะแนน 0-10 ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบว่า สตรีที่ได้รับการขูดมดลูกมีค่ามัธยฐานความเจ็บปวด ขณะขูดเยื่อบุปากมดลูกเท่ากับ 2.5 และ 3.0 (P = 0.42) ขณะขูดเยื่อบุโพรงมดลูกเท่ากับ 6.5 และ 7.5 (P = 0.19) หลังขูดมดลูกเสร็จทันทีเท่ากับ 4.0 และ 3.5 (P = 0.20) หลังขูดมดลูกเสร็จ 30 นาทีเท่ากับ 1.5 และ 1.0 (P = 0.17) ในกลุ่มที่ฉีดยาชาระงับปวดข้างปากมดลูกและกลุ่มที่รับประทานยาเมเฟนามิค แอซิด 500 มิลลิกรัมก่อนขูดมดลูก ตามลำดับ มีภาวะแทรกซ้อน เกิดขึ้น 6.8% (3 ใน 44 ราย) ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาชาระงับปวดข้างปากมดลูก สรุป: วิธีระงับปวดโดยการรับประทานยาเมเฟนามิค แอซิด 500 มิลลิกรัมก่อนขูดมดลูก 2 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการลดความปวดขณะขูดมดลูกไม่แตกต่างจากการฉีดยาชาระงับปวดข้างปากมดลูก แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ดังนั้นการใช้ยาเมเฟนามิค แอซิด จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับวิธีระงับปวดก่อนการขูดมดลูก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, July
ปีที่: 88 ฉบับที่ 7 หน้า 881-885
คำสำคัญ
Abnormal uterine bleeding, Fractional curettage, Mefenamic acid, Paracervical block