ผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลความสะอาดช่องปากต่อภาวะสุขภาพของช่องปากและการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ
วันเพ็ญ ภิญโญภาสกุล, สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา, เพชรัตน์ รุจิพงศ์*, เสาวลักษณ์ เล็กอุทัยDepartment of Adult and Elderly Nursing, The Thai Red Cross College of Nursing
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลความสะอาดช่องปากต่อภาวะสุขภาพของช่องปาก และการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจรูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบทดลองประเภทวัดก่อนและหลังการทดลองวิธีดำเนินการวิจัย: ศึกษาผู้ป่วยวิกฤตที่ใส่ท่อช่วยหายใจทางปากซึ่งมีอายุอย่างต่ำ 15 ปี จำนวน 24 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะสุขภาพช่องปาก และแบบบันทึกอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล โดยใช้ความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย วิเคราะห์ข้อมูลภาวะสุขภาพช่องปากและอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยใช้สถิติแมน-วิทนี-ยู และไคสแควร์ผลการวิจัย: ภายหลังได้รับการดูแลความสะอาดช่องปาก กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความผิดปกติของภาวะสุขภาพช่องปากต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ส่วนอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน (p>.05)สรุปและข้อเสนอแนะ: การใช้แนวปฏิบัตินี้สามารถลดความผิดปกติของภาวะสุขภาพช่องปาก แต่ไม่ส่งผลต่อการลดอัตราการเกิดปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากข้อจำกัดของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งการศึกษาครั้งต่อไปควรเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่าง และศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจนานกว่า 5 วัน
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2552, September-December
ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 57-64
คำสำคัญ
Clinical nursing practice guideline, Intubated patient, Oral care, Oral hygiene status, Ventilator-associated pneumonia, การดูแลความสะอาดช่องปาก, ปอดอักเสบจากาการใช้เครื่องช่วยหายใจ, ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ, ภาวะสุขภาพของช่องปาก, แนวปฏิบัติการพยาบาล