ผลการลดความปวดของ Ultrasound และ Interferential Current ในผู้ป่วย Myofascial Pain Syndrome
น.อ.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ*, ร.ท.หญิง พิกุล ตรีรณวาณิช
กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
บทคัดย่อ
                Myofascial Pain Syndrome (MPS) เป็นกลุ่มอาการปวดของกล้ามเนื้อที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง กลุ่มอาการนี้นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกับผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นเรื่องที่สร้างความหนักใจหรือสับสนให้กับแพทย์ผู้รักษาได้ง่าย ซึ่ง MPS นั้นมีแนวโน้มในด้านความชุกและอุบัติการณ์สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เนื่องจากวิถีชีวิตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้พฤติกรรมในการใช้กล้ามเนื้อของร่างกายมนุษย์ยุคนี้ถูกดัดแปลงไปในทางที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียดของกล้ามเนื้อมากขึ้น จนในที่สุดกลายเป็น Trigger point (TP) ได้                สาเหตุของ MPS ส่วนใหญ่แล้วเชื่อกันว่า เกิดจากภาวการณ์ใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป (muscle overload) ซึ่งมีได้หลายปัจจัย เช่น การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่รุนแรงจากอุบัติเหตุ (macrotrauma)  การผ่าตัด อาจเกิดจากความเครียดทางจิตใจ หรือการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย (microtrauma) และบ่อยครั้งที่ปัจจัยเหล่านี้มักจะเกิดร่วมกัน ซึ่งมีทฤษฎี Energy Crisis Theory นั้น อธิบายกลไกการเกิดของ Trigger point ว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่มีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ (muscle overload) ไม่ว่าจะบาดเจ็บรุนแรงหรือเพียงเล็กน้อย แต่เป็นติดต่อกันมานาน ทำให้มีการรั่วไหลของ Ca++ ออกมาจาก sarcoplasmic recticulum เข้าไปยัง sarcolemma ต่อจากนั้น Ca++ ก็จะไปรวมกับ ATP ทำให้ actin จับกัน myosin เกิดเป็น phathological muscle contraction หากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งตัวค้างไว้นาน อาจทำให้จุดนี้เกิด local ischemia และมีการเพิ่มขึ้นของ metabolic rate ทำให้มีการหลั่งของ endogeneous substance หลายอย่าง ที่ระคายเคืองต่อเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งมีผลไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวอีกจนเป็น self-sustained cycle ซึ่งจุดนี้พบว่ามี shortening ของ sarcomere เกิดเป็น contraction knot เวลาคลำจะพบก้อนตึงเป็นลำ ที่เรียกว่า taut band และมีจุดกดเจ็บใน taut band จุดนี้เรียกว่า Trigger point (TP) ซึ่ง TP นี้ยังผลให้เกิดอาการปวดร้าวไปยังบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อลดลง รวมไปถึงประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ที่มา
วารสารแพทย์นาวี ปี 2545, January-April ปีที่: 39 ฉบับที่ 1 หน้า 19-31