การสร้างและทดสอบเครื่องมือประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในคนไทยที่เลิกสูบบุหรี่
Supakit Wongwiwatthananukit*, ฐิติพร นาคทวน, เรวดี ธรรมอุปกรณ์Department of Clinical Pharmacy, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University, Bangkok 10330. E-mail:[email protected], Tel: 0 2218 8408, Fax: 0 2218 8403
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงวิธีการเพื่อสร้างและทดสอบคุณสมบัติความตรงและความเที่ยงของเครื่องมือประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในคนไทยที่เลิกสูบบุหรี่ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ (1) การสร้างเครื่องมือ (2) การทบทวนข้อคำถามโดยผู้เชี่ยวชาญ และ (3) การทดสอบเครื่องมือ เครื่องมือฉบับร่างสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ข้อคำถามจากแบบสอบถามคุณภาพชีวิตทั่วไป SF-36 และการสัมภาษณ์แบบกึ่งมาตรฐานในผู้ที่สูบบุหรี่ 16 คน ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ 8 คน และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 5 คน ข้อคำถามเริ่มต้นมีทั้งหมด 71 ข้อ เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเลิกสูบบุหรี่ต่อการประกอบกิจกรรมประจำวันและความเป็นอยู่โดยทั่วไปในผู้ใหญ่ ข้อคำถามมีลักษณะตัวเลือกเป็นแบบลิเคอร์ทสเกลจำนวน 5 ระดับ หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความตรงทางเนื้อหาแล้วได้นำเครื่องมือไปทดสอบขั้นต้นในกลุ่มตัวอย่าง 20 คน และนำไปทดสอบจริงในกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่จำนวน 431 คน การตรวจสอบคุณสมบัติการวัดทางจิตวิทยาใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมกับการวิเคราะห์ข้อคำถามในการตรวจสอบความตรงทางโครงสร้างและความเที่ยงของเครื่องมือ การคัดเลือกข้อคำถามใช้ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมกับการวิเคราะห์ข้อคำถาม หลังจากนั้นใช้การเทียบกับกลุ่มที่รู้เพื่อสนับสนุนผลการตรวจสอบความตรงทางโครงสร้างของเครื่องมือ ผลการวิจัยพบว่าเครื่องมือมีความตรงทางเนื้อหา ความตรงทางโครงสร้างและความเที่ยงอยู่ในระดับดี เครื่องมือได้รับการปรับปรุงแก้ไขเหลือ 36 ข้อ และมีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟ่าโดยรวมเป็น 0.93 ผลจากการสกัดองค์ประกอบโดยวิธีแกนหลักและหมุนแกนองค์ประกอบแบบมุมแหลม (โปรแมกซ์) พบว่า โครงสร้างของคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจำแนกออกเป็น 4 ด้าน คือ (1) ด้านความเป็นอยู่โดยทั่วไป 18 ข้อ (2) ด้านความพึงพอใจ 8 ข้อ (3) ด้านการควบคุมตนเอง 4 ข้อ และ (4) ด้านปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ 6 ข้อ จากการใช้สถิติแมนวิทนีย์-ยู พบว่ากลุ่มที่เลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป รายงานคะแนนคุณภาพชีวิตทั้ง 4 ด้านสูงกว่าในกลุ่มที่สูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นน้อยกว่า 0.02 แสดงว่า เครื่องมือที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขนั้นมีความตรงทางโครงสร้าง ผลการวิจัยยืนยันความตรงและความเที่ยงในเบื้องต้นของเครื่องมือ
ที่มา
วารสารวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2548, March
ปีที่: 19 ฉบับที่ 1 หน้า 49-74
คำสำคัญ
Health-related quality of life, Reliability, Validity, Smoking cessation, การเลิกสูบบุหรี่, Instrument, Smoking, การสูบบุหรี่, ความตรง, ความเที่ยง, คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ, เครื่องมือวัด