ประสิทธิผลของยาอะทอร์วาสทาทิน, โรซูวาสทาทิน, และซิมวาสทาทิน ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเทียบเท่าโรคหัวใจขาดเลือด ในเวชปฏิบัติทั่วไป
อุษณีย์ กิตติวงศ์สุนทร*, วิทยา กุลสมบูรณ์Pharmacy Department, Sappasittiprasong Hospital, Ubonratchathani
บทคัดย่อ
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาอะทอร์วาสทาทิน โรซูวาสทาทิน และซิมวาสทาทินของผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเทียบเท่าโรคหัวใจขาดเลือดในเวชปฏิบัติ โดยใช้วิธีการศึกษาแบบตัดขวางและเก็บข้อมูลย้อนหลังจากฐานข้อมูลในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสทาทินครั้งแรกระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2550 และไม่เคยได้รับยาลดไขมัน 6 เดือน ก่อนรับยาที่ศึกษา กลุ่มผู้ป่วยที่ศึกษามีอายุ ≥35 ปี มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดหรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าโรคหัวใจขาดเลือด และมีระดับ LDL-C แรกเริ่ม > 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระยะเวลาได้รับยาสทาทินต้องไม่น้อยกว่า 90 วัน วัดผลจากร้อยละของผู้ป่วยที่บรรลุเกณฑ์เป้าหมายของระดับ LDL-C ตามแนวทางของ NCEP ATP III และค่าเฉลี่ยของร้อยละการเปลี่ยนแปลงของการลดระดับ LDL-C รวมทั้งประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์โดยคิดต้นทุนเฉพาะค่ายาเท่านั้น สถิติที่ใช้คือ Chi-square test และ ANOVA ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ศึกษา 1,024 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาซิมวาสทาทิน 794 ราย ยาอะทอร์วาสทาทิน 109 ราย และยาโรซูวาสทาทิน 121 ราย มีอายุเฉลี่ย 62 ปี เพศชายวันละ 47.9 ผลการศึกษาพบว่า การบรรลุเป้าหมายระดับ LDL-C < 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ตามแนวทางของ NCEP ATP III ของยาโรซูวาสทาทิน (ร้อยละ 78) ยาซิมวาสทาทิน (ร้อยละ 68) และยาอะทอร์วาสทาทิน (ร้อยละ 62.4) แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.078) ค่าเฉลี่ยของร้อยละการเปลี่ยนแปลงของการลดระดับ LDL-C ของยาโรซูวาสทาทินดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยาซิมวาสทาทินและยาอะทอร์วาสทาทินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 46.1, 38.5, และ 38.2, p <0.05) ยาซิมวาสทาทินมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับยาโรซูวาสทาทินและยาอะทอร์วาสทาทิน (376; 16, 670; และ 29,417 บาท ต่อผู้ป่วย 1 รายที่บรรลุเป้าหมายระดับไขมันในเลือดต่อปี) โดยสรุปยาซิมวาสทาทินให้ผลบรรลุเป้าหมายระดับไขมันในเลือดตามแนวทางของ NCEP ATP III ที่มีความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับยาโรซูวาสทาทินและยาอะทอร์วาสทาทิน จึงควรเลือใช้เป็นยาลำดับแรก สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเทียบเท่าโรคหัวใจขาดเลือด ยกเว้นผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้กับยาซิมวาสทาทิน
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2552, May-August
ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 93-101
คำสำคัญ
Atorvastatin, Rosuvastatin, Simvastatin, การบรรลุเป้าหมายระดับไขมันในเลือด, ซิมวาสทาทิน, ประสิทธผลของยาสทาทิน, อะทอร์วาสทาทิน, โรคหัวใจขาดเลือด, โรซูวาสทาทิน, Effectiveness of statins, Lipid Goal Achievement, Coronary Heart Disease