ต้นทุนประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน จังหวัดพิษณุโลก
ทองพูล แต้สมบัติ*, ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย, อรทัย เขียวเจริญ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
บทคัดย่อ
ปัญหา/ที่มาของการศึกษาวิจัย:โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ ชนิดที่ไม่พึ่งอินซูลิน เป็นโรคเรื้อรังที่มีความชุกสูงและอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมากหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรได้รับการวินิจฉัยและดูแลตั้งแต่ระยะแรกและรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเน้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเป็นสำคัญวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาต้นทุนและประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยเบาหวานในจังหวัดพิษณุโลกตัวอย่างและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลย้อนหลัง คือ ต้นทุนในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อคนต่อปี สถานะสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและคุณภาพบริการผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้ดัชนีโรคที่ไม่สมควรนอนรักษาในโรงพยาบาล (ambulatory care sensitive conditions: ACSCs) ใน 9 เครือข่ายสถานพยาบาลจังหวัดพิษณุโลก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ข้อมูลค่าใช้จ่ายจากฐานการบันทึกบัญชีตามเกณฑ์พึงรับพึงจ่าย และข้อมูลการบริการจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่รับบริการ ณ โรงพยาบาลและสถานีอนามัยจากชุดข้อมูลมาตรฐาน 12 แฟ้มและ 18 แฟ้ม ปีงบประมาณ 2548, 2549 การคำนวณต้นทุนต่อคนต่อปีใช้ตัวแปรสำคัญในการวิเคราะห์ คือ อัตราการใช้บริการค่าเฉลี่ยน้ำหนักสัมพัทธ์ ต้นทุนต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ คุณภาพบริการ นำเสนอข้อมูลในค่าความถี่ ร้อยละผลการศึกษา: ต้นทุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อคนต่อปีของหน่วยบริการแบ่งเป็นต้นทุนผู้ป่วยนอกต้นทุนผู้ป่วยในและต้นทุนรวมต่อคนต่อปี พบว่า ในปีงบประมาณ 2548, 2549 ต้นทุนต่อคนต่อปีรวมผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์เฉลี่ยเท่ากับ 4,440 และ 6,885 บาทต่อคนต่อปี และเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 2,462-7,148 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยทั้งจังหวัดเท่ากับ 3,706 และ 4,487 บาทต่อคนต่อปี สถานะสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานพิจารณาจากจำนวนโรคเรื้อรังที่เป็นร่วมกับเบาหวาน จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอย่างเดียวมีจำนวนลดลงร้อยละ 18.7 แต่จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคเรื้อรังร่วม 1 โรคขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2-37.4 และร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานต้องนอนโรงพยาบาลด้วยเบาหวานเป็นสาเหตุหลักซึ่งไม่สมควรนอนรักษาในโรงพยาบาลตามดัชนี ACSC และร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานที่นอนโรงพยาบาลต้องมานอนโรงพยาบาลซ้ำภายใน 28 วันสรุป: การรักษาผู้ป่วยเบาหวานมีต้นทุนสูง แต่ประสิทธิผลในการรักษายังไม่ดีนักจากสถานะสุขภาพที่มีจำนวนโรคเรื้อรังร่วมเพิ่มขึ้นและมานอนโรงพยาบาลด้วยโรคเบาหวานเป็นสาเหตุหลัก จึงควรพัฒนาระบบบริการแบบผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยเบาหวานให้มีคุณภาพต่อไป
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2550, May-August ปีที่: 24 ฉบับที่ 2 หน้า 230
คำสำคัญ
ต้นทุน, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน, รักษา