การเปรียบเทียบผลการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ระหว่างการใช้เครื่องส่องไฟแบบมาตรฐานและแบบ 2 ด้าน
พยนต์ บุญญฤทธิพงษ์
Department of Pediatrics, BMA Medical College and Vajira Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองระหว่างการใช้เครื่องส่องไฟแบบมาตรฐาน (conventional phototherapy = CPT) กับการส่องไฟ 2 ด้านร่วมกัน (double-surface phototherapy = DsPT) โดยใช้แผ่นเส้นใยแก้วนำแสงชนิดรองนอน (fiberoptic pad phototherapy) ร่วมกับเครื่องส่องไฟมาตรฐาน (conventional phototherapy) รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้า (prospective analytical study) กลุ่มตัวอย่าง: ทารกที่เกิดในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2543 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2543 เป็นทารกแรกเกิดคลอดครบกำหนด อายุครรภ์ระหว่าง 37-42 สัปดาห์ น้ำหนักตั้งแต่ 2,500 กรัมขึ้นไป ไม่มีภาวะขาดออกซิเจนเมื่อแรกเกิด มีภาวะตัวเหลืองที่ไม่ได้มีสาเหตุจาการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง และมีระดับบิลิรูบินตั้งแต่ 13.0 มก./ดล. ขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 50 คนวิธีดำเนินการวิจัย: เลือกตัวอย่างตามเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด แบ่งกลุ่มโดยการจับสลากและสลับกลุ่มในตัวอย่างลำดับต่อๆ มา กลุ่มที่ 1 ได้รับการรักษาด้วยเครื่องส่องไฟที่ใช้เป็นมาตรฐานของหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด โดยใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์สีขาว จำนวน 8 หลอด (CPT) ส่องทางด้านบนของผู้ป่วย จำนวน 25 คน กลุ่มที่ 2 ได้รับการรักษาด้วยเครื่องส่องไฟ 2 ด้านร่วมกัน (DsPT) คือเครื่องส่องไฟแบบเส้นใยแก้วนำแสงชนิดแผ่นรองนอนด้านล่าง (fiberoptic pad phototherapy) ร่วมกับการใช้เครื่องส่องไฟแบบมาตรฐานของหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดส่องทางด้านบน จำนวน 25 คน เปรียบเทียบระดับสารบิลิรูบินที่เปลี่ยนแปลงหลังได้รับการรักษา 24 และ 48 ชั่วโมง ของแต่ละกลุ่มตัววัดที่สำคัญ : จำนวนที่ลดลงของสารบิลิรูบินและเปอร์เซ็นต์ที่เปลี่ยนแปลงและอุณหภูมิร่างกายภายหลังให้การรักษาส่องไฟ 24 และ 48 ชั่วโมงผลการวิจัย: ปัจจัยพื้นฐานและสารบิลิรูบินก่อนให้การรักษาของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ หลังให้การรักษาพบว่าทารกตัวเหลืองกลุ่มแรกที่ได้รับการรักษาแบบมาตรฐาน มีระดับบิลิรูบินในเลือดลดลงน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยใช้เครื่องส่องไฟ 2 ด้านร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยภายหลังการรักษา 24 ชั่วโมง กลุ่มแรกลดลง 1.10±0.84 มก./ดล. กลุ่มที่ 2 ลดลง 1.96±1.33 มก./ดล. (p = 0.009) และหลังการรักษา 48 ชั่วโมง กลุ่มแรกลดลง 2.00±0.99 มก./ดล. กลุ่มที่ 2 ลดลง 3.98±1.80 มก./ดล. (p = 0.000) ความแตกต่างของอุณหภูมิร่างกายในทั้ง 2 กลุ่มที่ศึกษาไม่มีนัยสำคัญทางสถิติสรุป: ได้เปรียบเทียบผลการรักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองด้วยการส่องไฟ พบว่าการใช้เครื่องส่องไฟ 2 ด้านร่วมกันให้ผลในการลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดได้ดีกว่าการใช้เครื่องส่องไฟแบบมาตรฐาน หลังการส่องไฟรักษา 24 และ 48 ชั่วโมง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และความแตกต่างของอุณหภูมิร่างกายในการรักษาทั้ง 2 แบบไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2545, September-December ปีที่: 46 ฉบับที่ 3 หน้า 187-194
คำสำคัญ
Conventional phototherapy (CPT), Non-hemolytic unconjugated hyperbilirubinemia, Double-surface phototherapy (DsPT)