คุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน
จินตนา วรสายัณห์, บัวจีน เทียมใจ, ประกิจ เทียมใจ, ประทุม สอนสพทอง, พจนา ธัญญกิตติกุล, พิบูลย์ ศรีชัย, ศิรามาศ รอดจันทร์*, สงกรานต์ ภู่พุกก์, สันทัด ผางโคกสูง, โกวิท คัมภีรภาพRaj Pracha Samasai Institute, Department of Disease Control
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อจำกัด/อุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคม คุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนที่ได้รับการพิจารณาให้รับการสงเคราะห์ในชุมชนระหว่างเดือน มกราคม 2548 – มิถุนายน 2549 จำนวน 120 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านโรคและสุขภาพ ข้อมูลด้านความพิการ และข้อมูลการรับการสงเคราะห์ แบบวัดอุปสรรค/ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมที่แปลมาจากวิม บราเคลและคณะ และแบบวัดคุณภาพชีวิตที่ปรับมาจากของกรมสุขภาพจิต ฉบับภาษาไทย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ สถิติเชิงบรรยาย การวิเคราะห์การผันแปรทางเดียว (Uppair t-test) One Way Anova และการวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบขั้นตอน (Stepwise multiple regression analysis) ผลการศึกษาพบว่าผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลางร้อยละ 56.4 ด้านอุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคมพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีอุปสรรค/ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมปานกลางเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจัยทำนายอุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคม คือ การไม่ได้เรียนหนังสือ การไม่ได้ประกอบอาชีพ การมีเท้ากุดหรือมีแผลที่นิ้วและการมีความพิการที่ใบหน้าเป็นคล้ายหน้าสิงโต/ย่นมาก (R2 = .223) โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นโรคเรื้อน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะมีอุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคมมากกว่าผู้ที่เรียนหนังสือ ผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือไม่มีอาชีพจะมีอุปสรรคในการมีส่วนร่วมมากกว่าผู้ที่มีอาชีพ ผู้ที่มีเท้ากุดหรือมีแผลที่นิ้วและมีความพิการที่ใบหน้าเป็นหน้าสิงโต/หน้าย่นมากจะมีอุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีความพิการ ส่วนปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตคือ การไม่มีข้อจำกัด/อุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคมหรือมีแต่เพียงเล็กน้อย การไม่มีปัญหาในการไปรับการรักษาพยาบาล การย้ายที่อยู่จากภูมิลำเนา และการไม่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตด้านความพิการ (R2 = .401) โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นโรคเรื้อนที่ไม่มีข้อจำกัด/อุปสรรคในการมีส่วนร่วมทางสังคมหรือมีแต่เพียงเล็กน้อย ไม่มีปัญหาในการไปรับการรักษาพยาบาลเช่น ปัญหาในการเดินทาง ค่าใช้จ่าย ฯลฯ ไม่มีปัญหาด้านความพิการและเป็นผู้ที่มีการย้ายที่อยู่จากภูมิลำเนาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าผู้อื่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ที่มา
วารสารสถาบันราชประชาสมาสัย ปี 2550, January-April
ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 1-14
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, การมีส่วนร่วมทางสังคม, ผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน, Quality of life, Social participation, Person affected with Leprosy