ต้นทุนประสิทธิผลของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจังหวัดนำร่อง
เกศศิริ สมบัติวัฒนางกูรDisease Prevention and Control Office 8 Nakhonswan
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนทางบัญชีของงบประมาณรายตัวประชากรต่อปีและประสิทธิผลของการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคตามโครงการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในจังหวัดนำร่องแห่งหนึ่ง ระหว่างเดือนธันวาคม 2546 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2547 เป็นการศึกษาแบบพรรณนา โดยใช้แบบสอบถาม และสัมภาษณ์ระดับลึกผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขระดับผู้ปฏิบัติ ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ อยู่ระหว่าง ไม่เกิน 30 บาท ร้อยละ 40.1- มากกว่า 40 บาท ร้อยละ 46.1 ต่อคนต่อปี ต้นทุนป้องกันควบคุมโรค อยู่ระหว่างไม่เกิน 40 บาท ร้อยละ 42.3 – 80 บาท ร้อยละ 1.6 และประสิทธิผลของการดำเนินงานจากการระบุชื่อโรคที่เห็นว่ายังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 3 ลำดับของพื้นที่ พบว่า ไข้เลือดออก ร้อยละ 44.5 ไข้หวัด ร้อยละ 24.7 และอุจจาระร่วง ร้อยละ 11.0 เป็นปัญหาสุขภาพ ในกลุ่มโรคติดต่อ 11 โรค กลุ่มโรคไม่ติดต่อ 12 โรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 45.6 โรคเบาหวาน ร้อยละ 27.5 และมะเร็ง ร้อยละ 7.7 และกลุ่มโรคจากการประกอบอาชีพสิ่งแวดล้อมและภัยสุขภาพ 17 โรค ได้แก่ แผลจากอุบัติเหตุ ร้อยละ 28.5 และสารพิษ ร้อยละ 9.9 ข้อเสนอแนะ คือผู้รับผิดชอบโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ควรทำการติดตามวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการจัดสรรงบประมาณ ให้แก่พื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน และงบประมาณลงไปไม่ถึงบางพื้นที่ เพราะมีผู้บริหารประมาณ 1 ใน 11 คน ตอบว่าไม่ได้รับงบประมาณ เพื่อแก้ไขและหาแนวทางป้องกัน มิฉะนั้นอาจทำให้โครงการฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรือล้มเหลวได้ นอกจากนี้ควรทำการหาต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ เพื่อการจัดการงบประมาณที่เหมาะสมให้กับพื้นที่ต่อไป
ที่มา
วารสารโรคและภัยสุขภาพ สคร.8 ปี 2551, February-May
ปีที่: 2 ฉบับที่ 2 หน้า 66-73
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุนประสิทธิผล, การป้องกันโรค, การส่งเสริมสุขภาพ, Health promotion, Health prevention, 30 baht scheme, 30 บาทรักษาทุกโรค