ผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ
จิรพร แอชตัน*, ทัศนา ชูวรรธนะปกรณ์, ศิริรัตน์ ปานอุทัย
Faculty of Nursing, Chiang Mai University
บทคัดย่อ
พฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่สามารถลดความรุนแรง ของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 ราย รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน 2549 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2550 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 15 ราย โดยให้มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุดในเรื่องคะแนนการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และคะแนนการได้รับการสนับสนุนทางสังคม ในพฤติกรรมการรับประทานอาหาร กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคม ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับโปรแกรม เครื่องมือดำเนินการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามทฤษฎีสมรรถนะแห่งตนของแบนดูรา (Bandura, 1997) และแนวคิดการสนับสนุนทางสังคมของเฮาส์ (House, 1981) ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือ รวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบสัมภาษณ์การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แบบสัมภาษณ์การได้รับการสนับสนุนทางสังคมในพฤติกรรมการรับประทานอาหาร มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .91 และ .87 และมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ .92 และ .84 ตามลำดับ และแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการรับประทานของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .98 และทดสอบความเชื่อมั่นโดยการทดสอบซ้ำ มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันเท่ากับ .97 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากรสองกลุ่มอิสระต่อกัน และสถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากรสองกลุ่มสัมพันธ์กันผลการวิจัยพบว่า1. คะแนนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)2. คะแนนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจหลังได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมในพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจส่งผลให้พฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจดีขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลต่อไป 
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2551, July-September ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 84-96
คำสำคัญ
การสนับสนุนทางสังคม, การรับรู้สมรรถนะแห่งตน, พฤติกรรมการออกกำลังกาย, ผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ, Social support, Perceived self-efficacy, Elderly with coronary artery disease, Exercise behavior