ผลของการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าต่อการควบคุมลำตัวในเด็กซีพี ชนิด Spastic Diplegia
จีรภา จรัสวณิชพงศ์
กลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงพยาบาลราชานุกูล
บทคัดย่อ
                การศึกษาผลของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าต่อการควบคุมลำตัวในท่านั่งของเด็กซีรีบราลพัลซี่ หรือเด็กซีพีชนิด spastic diplegia ในช่วงอายุตั้งแต่ 8 ถึง 16 เดือน กลุ่มตัวอย่างจะถูกสุ่มเลือกและแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการรักษาทางกายภายบำบัดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ในกลุ่มแรกจะเพิ่มการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า โดยจะให้การกระตุ้นบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังก่อนและหลังการรักษา เด็กจะได้รับการตรวจประเมินโดยการถ่ายฟิล์มเอ็กซเรย์กระดูกสันหลังในท่านั่ง และจะทำการวัดค่าการโค้งงอของกระดูกสันหลัง มุมการบิดเอียงของกระดูกสันหลังจากแนวกลางลำตัว และมุมระหว่างกระดูกสันหลังช่วงเอวและกระดูกสันหลังส่วนก้นกบ นอกจากนั้นจะได้รับการตรวจประเมินการทรงในท่านั่งโดยใช้แบบฟอร์ม score-groups motor function measure (GMFM)                ลักษณะของเด็กทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันก่อนการรักษา แต่ภายหลังการรักษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าเด็กที่ได้รับการรักษาทางกายบำบัดรวมกับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้ามีการโค้งงอของกระดูกสันหลังลดลง และมีคะแนนการทรงท่าในท่านั่งเพิ่มขึ้น  นอกจากนั้นเด็กจะมีมุมการบิดเอียงของกระดูกหลังลดลงกว่ากลุ่มเด็กที่มีการรักษาทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว                จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาโดยการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าร่วมกับการทำกายภาพบำบัดจะทำให้เด็กซีพี ชนิด spastic diplegia มีการควบคุมการทรงท่านั่งได้ดีขึ้น
ที่มา
วารสารราชานุกูล ปี 2545, ปีที่: 17 ฉบับที่ 2 หน้า 41-47