คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มอาการเนฟโฟรติค
ฉันทิกา จันทร์เปีย, ปัญจางค์ สุขเจริญ, สมศรี แสงสว่างชัย, อัจฉรา เปรื่องเวทย์*, ไข่มุก วิเชียรเจริญ
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร ปัจจัยด้านสุขภาพ ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มอาการเนฟโฟรติค กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มอาการเนฟโฟรติค ซึ่งมีอายุระหว่าง 6-12 ปี และบิดามารดาหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 136 คน ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งประกอบด้วยคุณภาพชีวิต 4 ด้าน ได้แก่ ความพึงพอใจในชีวิต อัตมโนทัศน์ สุขภาพและการทำงานของร่างกาย สังคมและเศรษฐกิจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for windows เพื่อคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน                ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มอาการเนฟโฟรติคมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับดี โดยมีด้านความพึงพอใจในชีวิตอยู่ในระดับดีมาก ด้านอัตมโนทัศน์ ด้านสุขภาพและการทำงานของร่างกาย ตลอดจนด้านสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับดี ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร ได้แก่ เพศ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ปัจจัยด้านสุขภาพและการทำงานของร่างกายได้แก่ พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ การปฏิบัติของบิดามารดาในการดูแลบุตร มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2543, April-June ปีที่: 18 ฉบับที่ 2 หน้า 66-75
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Children with Nephrotic Syndrome, ผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มอาการเนฟโฟรติค