คุณภาพชีวิตในโรงเรียนของเด็กโรคหอบหืด
Pornsri Sriussadaporn*, Srisomboon Musiksukont, สมพร สุนทราภา, สมหญิง โควศวนนท์
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตในโรงเรียน ของเด็กโรคหอบหืด กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็น โรคหอบหืดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี จำนวน 92 คน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12-14 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ทราบว่าตนเองเป็นโรคหอบหืด ระยะเวลาในการเป็นโรค 1-5 ปี เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตในโรงเรียนของเด็กโรคหอบหืดซึ่งผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ประกอบด้วยองค์ประกอบ ด้านสุขภาพ ด้านการทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน และด้านอารมณ์ความรู้สึกต่อการเข้าร่วมกิจกรรม มีค่าความเชื่อมั่น 0.86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละและค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่าคุณภาพชีวิตในโรงเรียนของเด็กโรคหอบหืดโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านสุขภาพส่วนใหญ่มีภาวะโถชนาการปกติ มี อาการของโรคหอบหืดซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเกือบทุกวันขณะอยู่โรงเรียน ได้แก่ อาการเหนื่อย ไอมีเสมหะ อาการเหล่านี้เกิดในขณะทำกิจกรรมออกกำลัง เช่น ขณะวิ่งเล่นกับเพื่อน และในชั่วโมงพลศึกษาไม่เคยเกิดอาการของโรคหอบหืดขณะอยู่โรงเรียนจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีการขาดเรียน เนื่องจากมีอาการของโรคหอบหืดประมาณ 2-5 วันต่อภาคการศึกษาด้านการทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนได้ปฏิบัติเป็นประจำ ได้แก่ กิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกาย และกิจกรรมการรักษาความสะอาดของห้องเรียนและสิ่งแวดล้อม ด้านอารมณ์ความรู้สึกต่อการทำกิจกรรมกับเพื่อนในโรงเรียน พบว่าเด็กโรคหอบหืดมีความมั่นใจมากในเรื่องการนั่งเรียนกับเพื่อนๆ และการทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนในโรงเรียน ส่วนความรู้สึกอาย กังวลและเบื่อหน่าย ต่อการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนในโรงเรียน พบว่าอยู่ในระดับน้อย                ผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า เด็กโรคหอบหืดควรได้รับการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน โดยครูจะต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของนักเรียนเหล่านี้ทั้งก่อน ขณะและหลังทำกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องออกกำลัง
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2545, September-December ปีที่: 20 ฉบับที่ 3 หน้า 63-73
คำสำคัญ
Quality of life, Asthmatic children at school, คุณภาพชีวิตในโรงเรียน, เด็กโรคหอบหืด