ความสามารถในการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยวิธีการขจัดของเสียทางเยื่อบุช่องท้องต่อเนื่อง@
คัทลียา อุคติ*, ณัฐนิช จันทจิรโกวิทPrivate Medicine Unit (Floor 10), Department of Nursing, Songklanagarind Hospital, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkla, 90110, Thailand
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสามารถในการดูแลตนเอง คุณภาพชีวิต และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส รายได้ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่ได้รับการรักษา อัตราการติดเชื้อกับความสามารถในการดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รักษาด้วยวิธีการขจัดของเสียทางเยื่อบุช่องท้องต่อเนื่องโดยใช้กรอบทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของโอเร็มเป็นแนวทาง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยการขจัดของเสียทางเยื่อบุช่องท้องต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน ที่มาตรวจตามนัดที่คลินิกโรคไต แผนกผู้ป่วยนอกและที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน 57 ราย ข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยตามแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความสามารถในการดูแลตนเอง ซึ่งดัดแปลงมาจากแบบประเมินความสามารถในการดูแลตนเองของ Evers และคณะและแบบประเมินคุณภาพชีวิตใช้ดรรชนีคุณภาพชีวิตของ Padilla & Grant ซึ่งสมจิต หนุเจริญกุล ได้แปลเป็นภาษาไทย และดัดแปลงข้อคำถามเล็กน้อยผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการดูแลตนเองค่อนข้างสูง คุณภาพชีวิตปานกลาง คุณภาพชีวิตหลังการรักษาด้วยวิธีการขจัดของเสียทางเยื่อบุช่องท้องต่อเนื่องดีกว่าก่อนการรักษา สำหรับความสามารถในการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.38, p<.01) เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการดูแลตนเอง และคุณภาพชีวิต พบว่า ระยะเวลาที่ได้รับการรักษามีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการดูแลตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.27, p<.05) ในขณะที่อายุมีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิต (r=-.25, p<.05) แต่สถานภาพสมรสและอัตราการติดเชื้อมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.28, p<.05)
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2550, May-June
ปีที่: 25 ฉบับที่ 3 หน้า 171-177
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ความสามารถในการดูแลตนเอง, Continuous ambulatory peritoneal dialysis (CAPD), Self care agency, การขจัดของเสียทางเยื่อบุช่องท้องต่อเนื่อง