การใช้ยาเควไทอาพีนรักษาผู้ป่วยที่นอนไม่หลับชนิดปฐมภูมิ: การทดลองที่มีการสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
กนิดา ทัศนิยม*, จิราพร เขียวอยู่, สมพนธ์ ทัศนิยม, สุชาติ พหลภาคย์Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Khon Kaen University Khon Kaen 40002, Thailand. E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยาเควไทอาพีนขนาด 25 มิลลิกรัม ในการรักษาผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับชนิดปฐมภูมิวัสดุและวิธีการ: การศึกษานี้ เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม และปิดบังทั้งสองด้าน ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคนอนไม่หลับชนิดปฐมภูมิตามหลักเกณฑ์ของ DSM-IV-TR และผ่านเกณฑ์การจัดกลุ่มตัวอย่าง ได้รับการร้องขอให้บันทึก sleep diary เป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้นได้รับการสุ่มเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับยาเควไทอาพีน 25 มิลลิกรัม หรือ กลุ่มที่ได้รับยาหลอก รับประทานหนึ่งเม็ดติดต่อกันนานสองสัปดาห์ ร่วมกับบันทึก sleep diary ตัวชี้วัดผลการศึกษาได้แก่ ระยะเวลาทั้งหมดที่สามารถหลับได้จริง ระยะเวลาตั้งแต่เข้านอนจนถึงหลับจริงความสามารถในการทำงานในตอนกลางวัน และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา การเก็บข้อมูล กระทำตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลการศึกษา: อาสาสมัครที่เข้าร่วมจนจบการศึกษาทั้งหมด 13 คน (อายุเฉลี่ย 45.95 ปี) กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาเควไทอาพีนมีระยะเวลาการนอนหลับเฉลี่ยได้นานกว่าเดิม 124.92 นาที กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอก นอนหลับได้นานขึ้นเฉลี่ย 72.24 นาที ระยะเวลาตั้งแต่เข้านอนจนถึง เวลาที่หลับได้จริงเฉลี่ยในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาเควไทอาพีนสั้นลง 96.16 นาที ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอกสั้นลง 23.72 นาที ความแตกต่างที่เกิดทั้งสองกลุ่ม เมื่อทำการเปรียบเทียบ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่ได้รับยาเควไทอาพีนมีรายงานผลข้างเคียงของการใช้ยา ได้แก่ อาการปากแห้งคอแห้ง และอาการง่วงนอนในเวลากลางวันสรุป: การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกที่ทำการเปรียบเทียบผลของการรักษายาเควไทอาพีน ในผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับแบบปฐมภูมิ พบว่ายาเควไทอาพีนในขนาดรับประทานก่อนนอน 25 มิลลิกรัม ทำให้ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับชนิดปฐมภูมิ นอนหลับได้ง่ายขึ้น และนอนหลับได้นานขึ้นมากกว่ายาหลอก แต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาในอนาคตหากมีกลุ่มทดลองที่มากขึ้นอาจทำให้เกิดนัยสำคัญทางสถิติ ได้จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มากขึ้นจะช่วยในการยืนยันผลการศึกษา
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2553, June
ปีที่: 93 ฉบับที่ 6 หน้า 729-734
คำสำคัญ
Insomnia, Primary insomnia, Quetiapine, Sleep