ผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านต่อประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและคุณภาพชีวิต ในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผาสุข แก้วเจริญตา*, ลดาวัลย์ ภูมิวิชชุเวช, ศรัณย์ ควรประเสริฐ, ศิริรัตน์ ปานอุทัยLublae Hospital, Uttaradit Province
บทคัดย่อ
โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นภาวะของความเจ็บป่วยเรื้อรังที่กระทบต่อชีวิต โดยส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและคุณภาพชีวิตลงลง ความรุนแรงของโรคส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการควบคุมพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านเป็นการป้องกันโรคระดับสองที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและคุณภาพชีวิต การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านต่อประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและคุณภาพชีวิตในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงที่แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จำนวน 16 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน ซึ่งผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยใช้กรอบแนวคิดของชมรมฟื้นฟูหัวใจ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2545) เครื่องมือที่ใช้สนการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ดัชนีวัดความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย (the Duke Activity Status Index (DASI)) ของนฤมล นุ่มพิจิตรและคณะ (2000) ตรวจสอบความเชื่อมั่น ได้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันเท่ากับ .97 แบบบันทึกการทดสอบการเดินใน 6 นาที (six Minute Walk Test (6MMWT)) และ แบบวัดคุณภาพชีวิตของรัคโฮล์ม และแมคกิรร์ (Rukholm & Mcgirr, 1994) แปลโดยนิธิวดี เมธาจารย์ (2544) ผ่านการตรวจสอบความเชื่อมั่นได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย สถิติทดสอบฟรีคแมน และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยพบว่า 1. ภายหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจมีคะแนนเฉลี่ยประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดในสัปดาห์ที่ 8 ไม่แตกต่างจากก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่ในสัปดาห์ที่ 12 มีค่าสูงกว่าก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และระยะทางเฉลี่ยที่เดินได้ในระยะเวลา 6 นาที ในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 สูงกว่าก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2. ภายหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตสูงกว่าก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและคุณภาพชีวิตในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจดีขึ้น ดังนั้นผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุดและคุณภาพชีวิตในผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจและใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิจัยต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2547, ตุลาคม-ธันวาคม
ปีที่: 31 ฉบับที่ 4 หน้า 100-114
คำสำคัญ
Quality of life, Coronary artery disease, Home cardiac rehabilitation, Peak oxygen uptake, การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน, คุณภาพชีวิต, ประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด, โรคหลอดเลือดหัวใจ