โครงการศึกษานำร่องผลประโยชน์ที่ได้รับจากการให้ยา เอเส็ดที เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกและการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผล กรณีการศึกษาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล : รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์
สุคนธา คงศีล, สุวัฒน์ คงศีล, สุขุม เจียมตน, ภูษิตา อินทรประสงค์, อังสนา บุญธรรม, อุไรวรรณ ตะรุโณทัย, พานี ชุมทองบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลของการให้ยา AZT เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกเปรียบเทียบการให้บริการในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล โดยมุ่งเน้นทั้งผู้ที่ให้บริการและผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่กรุงเทพมหานครในการให้ยา AZT แก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการในสถานบริการของกรุงเทพมหานครอย่างเหมาะสมต่อไป ผลการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 80 ของมารดา ได้ยา AZT ก่อนเจ็บครรภ์คลอด ร้อยละ 63.5 ของมารดาคลอดปกติทางช่องคลอด มารดา 130 คนหรือร้อยละ 24.6 ของมารดานัดผ่าตัดคลอด และผ่าตัดคลอดในมารดาที่คลอดปกติ ค่าเฉลี่ยของต้นทุนหัตถการ ค่ายาและค่าวัสดุทางการแพทย์ประมาณ 2,900 บาท ค่าเฉลี่ยของต้นทุนค่าแรงประมาณ 3,250 บาท และค่าเฉลี่ยของต้นทุนทั้งหมดประมาณ 6,150 บาท สำหรับมารดาที่ผ่าตัดคลอด ค่าเฉลี่ยของต้นทุนค่าหัตถการ ค่ายาและค่าวัสดุทางการแพทย์ประมาณ 6,000 ถึง 11,050 บาท ค่าเฉลี่ยของต้นทุนค่าแรงประมาณ 3,550 ถึง 4,500 บาท และค่าเฉลี่ยของต้นทุนทั้งหมดประมาณ 9,550 ถึง 14,400 บาท สรุปผลการศึกษาได้ว่ามีผู้ป่วย 7 รายจาก 103 (6.8%) มีการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก การให้ยา AZT ทำให้ต้นทุนแรงงานและต้นทุนรวมมีจำนวนมากขึ้นประมาณ 420 บาท และ ความแตกต่างระหว่างการให้ยา AZT 1 ครั้ง กับ 2 ครั้ง ส่งผลให้ต้นทุนรวม ประมาณ 1,900 บาท (แต่ การได้รับยา AZT 1 ครั้งกับไม่ได้รับยา ไม่มีความแตกต่างของต้นทุน) และพบว่ามารดาได้รับยา AZT ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนค่ายา ดังนั้นงบประมาณสำหรับการให้ยา AZT เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก นอกจากงบประมาณสนับสนุนด้านยา AZT ควรมีงบประมาณสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ เช่น การตรวจ PCR
ที่มา
ปี 2548
คำสำคัญ
การวิเคราะห์ต้นทุน, โรคเอดส์