ต้นทุน และประสิทธิภาพของหน่วยบริการไตเทียม ภาครัฐและเอกชนในปี 2544
กัญจนา ติษยาธิคม, วลัยพร พัชรนฤมล, สุวรรณา มูเก็ม, วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียรบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ ต้นทุน โครงสร้างต้นทุน ประสิทธิภาพของหน่วยบริการไตเทียม ภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ในปี 2544 โดยใช้วิธีการสำรวจ โดยเก็บข้อมูลต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าเสื่อมราคา ปริมาณการบริการฟอกเลือด และจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังของหน่วยบริการไตทียมทั้งหมด 170 แห่ง โดยให้หัวหน้าหน่วยบริการไตเทียมเป็นผู้ตอบข้อมูลทางไปรษณีย์ ข้อมูลค่าแรงประกอบด้วยเงินเดือน สวัสดิการ และค่าล่วงเวลา ผู้วิจัยศึกษา Full time equivalent เพื่อคำนวณต้นทุนค่าแรงของบุคลากรที่ปฏิบัติงานให้หน่วยบริการไตเทียมเท่านั้น ค่าวัสดุ ประกอบด้วยต้นทุนค่าวัสดุที่ใช้สำหรับการฟอกเลือดและวัสดุอื่นๆ ไม่รวมยาที่ใช้ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด และค่าสาธารณูปโภค ค่าลงทุนคิดลดทอนเป็นค่าเสื่อมรายปี โดยกำหนดให้อายุการใช้งานของครุภัณฑ์เท่ากับ 5 ปี และอายุการใช้งานของอาคารสิ่งก่อสร้างเท่ากับ 20 ปี วิธีการวิเคราะห์ใช้สถิติเชิงพรรณนา ส่วนสมการต้นทุนวิเคราะห์เพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนของการให้บริการหน่วยบริการไตเทียมนั้นใช้สถิติวิเคราะห์แบบ สหสัมพันธ์ถดถอยพหุคูณ (Multiple regressions) ที่ P-value 0.05 ผลการศึกษาได้รับข้อมูลตอบกลับจากหน่วยบริการไตเทียม 117 แห่ง (69%) ใช้ข้อมูลสมบูรณ์ 108 แห่งเพื่อการวิเคราะห์ (64%) จำนวนเครื่องที่เปิดให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนใกล้เรียงกันในปี 2542 และ 2543 ในปี 2544 มีเครื่องที่เปิดให้บริการจำนวน 730 เครื่อง โดยสัดส่วนของเครื่องไตเทียมอยู่ที่ภาครัฐ ร้อยละ 56 ภาคเอกชนร้อยละ 44 ผลงานการให้บริการ ภาคเอกชนมีจำนวนครั้งของการให้บริการเฉลี่ยต่อแห่งสูงกว่าภาครัฐ การให้บริการต่อเครื่องต่อวัน และการให้บริการเป็นจำนวนรายต่อเครื่อง พบว่า ภาคเอกชนมีผลงานบริการสูงกว่าภาครัฐเช่นเดียวกัน สัดส่วนต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ และค่าลงทุนเท่ากับ 40:43:17 ภาครัฐมีต้นทุนรวมทั้งหมดเท่ากับ 273.9 ล้านบาท ภาคเอกชนมีต้นทุนรวมทั้งหมดเท่ากับ 259.7 ล้านบาท ภาครัฐมีสัดส่วนต้นทุนค่าลงทุนสูงกว่าภาคเอกชน ร้อยละ 9 ภาครัฐมีต้นทุนต่อครั้งของการให้บริการ สูงกว่าภาคเอกชนเล็กน้อย โดยต้นทุนต่อครั้งของภาครัฐเฉลี่ย เท่ากับ 1,927 บาท ภารเอกชนเท่ากับ 1,525 บาท การวิเคราะห์โดยใช้ Multiple regressions พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนในการฟอกเลือดทั้งภาครัฐและเอกชนคือ จำนวนครั้งที่ให้บริการ และจำนวนครั้งที่ให้บริการต่อเครื่องต่อวัน โดยมีประสิทธิภาพของตัวพยากรณ์ (R2) เท่ากับ 0.865
ที่มา
ปี 2546
คำสำคัญ
หน่วยบริการไตเทียม, โรคไต