ต้นทุน-ประสิทธิผลในการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียด้วยมาตรการวิธีการตรวจคัดกรองก่อนการสมรสและการตรวจคัดกรองหญิงมีครรภ์เมื่อไปฝากครรภ์
สุพล ลิมวัฒนานนท์, จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์, อรุณี เจตศรีสุภาพบทคัดย่อ
โรคธาลัสซีเมีย (thalassemia) เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อป้องกันเด็กเกิดใหม่ที่เป็นโรคนี้ นอกจากการ ใช้วิธีการตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ (ANC screening) แล้วการใช้มาตรการด้วยการตรวจคัดกรองในประชากรในวัยเจริญพันธุ์ก่อนการสมรส (premarital screening) จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพียงใดหรือไม่ การวิจัยนี้ใช้การคำนวณ ต้นทุนและประสิทธิผลตามตัวแบบการวิเคราะห์การตัดสินใจ (decision analysis model) ที่สร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) และการประมาณการ โดยใช้มุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ (health care provider perspective) ผลการศึกษาพบว่า การตรวจคัดกรองโรคทั้งแบบก่อนการสมรสและเมื่อไปฝากครรภ์ สามารถลดจำนวนทารกเกิดใหม่ที่เป็นโรคได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ทำอะไรเลย (no screening) คิดเป็น 17 และ 5 รายต่อแสน ตามลำดับ และยังสามารถลดต้นทุนด้านสุขภาพโดยรวมลงได้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวิธีการตรวจคัดกรองทั้งสอง พบว่า การตรวจคัดกรองแบบก่อนการสมรสมีลักษณะเป็น economic dominance ต่อการตรวจคัดกรองแบบเมื่อไปฝากครรภ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การตรวจคัดกรองก่อนการสมรสจะมีต้นทุนในส่วนของการคัดกรองที่สูงกว่า แต่เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายในการ รักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคได้มากกว่า ดังนั้น การตรวจคัดกรอง แบบก่อนการสมรสจึงมีต้นทุนด้านสุขภาพโดยรวมที่ต่ำกว่า การตรวจคัดกรองแบบเมื่อไปฝากครรภ์ ปัจจัยที่มีผลทำให้ เกิดความผันแปรของส่วนต่างประสิทธิผลและต้นทุนระหว่างการตรวจคัดกรองแบบก่อนการสมรสกับการตรวจคัดกรองแบบเมื่อไปฝากครรภ์มากที่สุด คือ ความชุกของการเป็นพาหะ โรคในคู่สมรส รองลงไป คือ โอกาสที่ทารกจะเกิดเป็นโรคหากบิดา-มารดาเป็นคู่เสี่ยง ปัจจัยที่มีผลต่อความผันแปรของประสิทธิผลและต้นทุนของมาตรการตรวจคัดกรองน้อยมาก ได้แก่ ความไม่แน่นอนของอัตราการฝากครรภ์ภายใน 16 สัปดาห์ อัตราการทำแท้งภายหลังทราบผลตรวจยืนยัน ความจำเพาะของการตรวจคัดกรอง ต้นทุนของการตรวจยืนยัน และต้นทุนของการทำแท้ง จากผลการศึกษาซึ่งพบว่า การตรวจคัดกรองแบบก่อนการสมรสซึ่งมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าการตรวจคัดกรองแบบเมื่อไปฝากครรภ์ทั้งในแง่ประสิทธิผลและต้นทุน (economic dominance) รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการขยาย (scale up) มาตรการดังกล่าวให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์ที่กำลังจะสมรสเข้าถึงบริการดังกล่าวให้ได้มากที่สุด โดยกำหนดให้มาตรการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสุขภาพ
ที่มา
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปี 2548