การวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ในการนำการรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านเชื้อไวรัสเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
วิทยา กุลสมบูรณ์, สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล, วสันต์ ภิญโญวิวัฒน์
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ในการนำการรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลต้นทุนและผลได้ของการรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสและประเมินความเป็นไปได้ในการนำการรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสเข้าสู่การประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลบำราศนราดูรด้วยแบบจำลองด้านต้นทุนและผลได้ที่ได้กำหนดขึ้นแล้วนำมาทำการประมาณภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ในแต่ละปี และจากการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่ใช้ยาและไม่ใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ของโรงพยาบาลบำราศนราดูรมีต้นทุนในการรักษารวมต่อปีต่อคนเท่ากับ 87,168 บาทและ 11,115 บาทตามลำดับ (ราคา ณ ปี 2545) การใช้ยาต้านไวรัสเอดส์สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ 9,143.04 บาท/คน/ปี ในการศึกษานี้ได้ประมาณการอัตราส่วนผลได้/ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเทียบกับการไม่ใช้ยาต้านไวรัส ในกรณีที่ใช้ยา GPO-vir พบว่ามีอัตราส่วนผลได้ต่อต้นทุนส่วนเพิ่มอยู่ในระหว่าง 2.68-2.94 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายในการให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ครอบคลุมถ้วนหน้าจะมีค่าใช้จ่ายในระยะยาวระหว่าง 4,000 – 11,000 ล้านบาทต่อปี โดยเมื่อคิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอยู่แล้วจากกรณีไม่ใช้ยา จะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มระหว่าง 1,400 ถึง 8,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ก็ขึ้นกับแนวทางการดำเนินงานว่าจะเป็นแบบใด และขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญ คือ (1) ประสิทธิภาพของยาสูตร GPO-vir ขององค์การเภสัชกรรมในเรื่องของการแพ้ยาและดื้อยา (2) ต้นทุนราคายาในสูตรอื่น ๆ ที่ยังมีสิทธิบัตรอยู่ว่าสามารถลดราคาลงได้มากน้อยเพียงใด (3) จำนวนผู้ป่วยเอดส์รายใหม่จะควบคุมได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดจะต้องมีข้อกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่จะต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้คือ (1) มีระบบการให้คำปรึกษาตามมาตรฐานที่กำหนด ที่สามารถให้ผู้ป่วยตัดสินใจได้ด้วยตนเอง (2) มีเครือข่ายผู้ติดเชื้อร่วมในกระบวนการให้คำปรึกษาและติดตามผู้ป่วยและ (3) มีการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ การให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรให้ความครอบคลุมในทุกๆโรค ตามกำลังความสามารถของประเทศ ซึ่งสามารถทำได้หากมีการจัดการที่ดี เพราะสุขภาพของประชาชนเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของมนุษยธรรมและความมั่งคั่งของประเทศ 
ที่มา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
ต้นทุนและประสิทธิผล, โรคเอดส์, การรักษาด้วยยา