การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเครื่องมือถ่างลิ้นหัวใจโลหะกับบอลลูนของอิโนอุเอะ ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบในด้านสมรรถภาพการออกกำลังและคุณภาพชีวิต
เทวัญ สุวานิช
สุพจน์ ศรีมหาโชตะ
บทคัดย่อ
การถ่างลิ้นหัวใจเพื่อรักษาโรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ (percutaneous transseptal mitral commissuroromy) ที่ผ่านมาใช้บอลลูนของอิโนอุเอะ (Inoue balloon) เป็นเครื่องมือในการรักษา แต่เครื่องมือดังกล่าวมีราคาแพงและถูกออกแบบมาให้ใช้ได้เพียงครั้งเดียว ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจำเป็นต้องนำเครื่องมือดังกล่าวกลับมาใช้ใหม่หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ สูงมากขึ้น ในปีพุทธศักราช 2542 Cribier ได้คิดค้นเครื่องมือถ่างลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะ (Metallic valvulotome) เครื่องมือดังกล่าวได้รับการทดสอบในเบื้องต้นแล้วว่า สามารถขยายลิ้นหัวใจไมตรัลที่ตีบได้พื้นที่มากกว่า Inoue balloon เล็กน้อย แต่ยังไม่มีการศึกษาใดที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าวในด้านสมรรถภาพการออกกำลังและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการรักษา การศึกษานี้ทำการเปรียบเทียบสมรรถภาพการออกกำลังโดยการเดินจับเวลาหกนาทีและคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบสอบถาม SF - 36 ภาษาไทยในผู้ป่วยโรคลิ้นไมตรัลตีบที่รับการรักษาด้วยการทำ percutaneous transseptal mitral commissuroromy ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยให้ผู้ป่วยเดินจับเวลาหกนาทีและตอบแบบสอบถาม SF - 36 ก่อนการรักษาและ 4 สัปดาห์หลังการรักษา โดยผู้ป่วยจะถูกสุ่มให้ได้รับเครื่องมือชนิดใดชนิดหนึ่งในการรักษา ผลการศึกษาพบว่า ระยะทางในการเดินจับเวลาหกนาทีและคะแนนแบบสอบถาม SF - 36 ภาษาไทยของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยเครื่องมือแต่ละชนิดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งก่อนการรักษาและที่ 4 สัปดาห์หลังการรักษา การทำ Percutaneous transseptal mitral commissuroromy ด้วย metallic valvulotome สามารถทำให้สมรรถภาพการออกกำลังและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้ในระดับเดียวกับการใช้ Inoue balloon
ที่มา
M.Sc จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545