คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วย ยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่
ศิริยุพา นันสุนานนท์
Nanthika Thawichachart
บทคัดย่อ
ศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ ระยะเวลาที่ป่วย จำนวนครั้งที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ระดับความรุนแรงของอาการทางจิต และชนิดของยาต้านโรคจิต โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเภท จำนวน 350 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั่งเดิม จำนวน 316 คน กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่ จำนวน 34 คน ได้แก่ กลุ่มยา clozapine จำนวน 18 คน กลุ่มยา risperidone จำนวน 6 คน และกลุ่มยา olanzapine จำนวน 10 คน ผู้ป่วยเหล่านี้มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีธัญญา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามคุณภาพชีวิต (Quality of Life Questionnaire/QLQ) และ แบบประเมินอาการทางจิต (Brief Psychiatric Rating Scale/BPRS) สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด เปรียบเทียบความแตกต่างโดย F-test, Chi-square test และ Stepwise Multiple linear regression ผลการวิเคราะห์พบว่า 1. ระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมตามการประเมินตนเองของผู้ป่วยจิตเภท ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิต พบว่า ส่วนใหญ่ประเมินตนเองว่ามีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางถึงดี ผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิม มีระดับคุณภาพชีวิตดี คิดเป็นร้อยละ 49.1 กลุ่มยา clozapine มีระดับคุณภาพชีวิตปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 55.6 กลุ่มยา risperidone มีระดับคุณภาพชีวิตปานกลางคิดเป็นร้อยละ 66.7 และกลุ่มยา olanzapine มีระดับคุณภาพชีวิตดี คิดเป็นร้อยละ 60 โดยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์คุณภาพชีวิตโดยรวม ของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ได้แก่ ระดับความรุนแรงของอาการทางจิต สถานภาพสมรสคู่ ระดับการศึกษาสูงกว่าชั้นมัธยมศึกษา และเพศ
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2543