การศึกษาแบบสุ่มเพื่อเปรียบเทียบการรักษาทารกโรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำเฉียบพลันด้วยแลคโตบาซิลลัสร่วมกับไบฟิโดแบคทีเรีย และไดอ็อกตาฮีดรัล สเม็กไทท์
เอกสิทธิ์ โกวิทย์ดำรงค์Boosba Vivatvakin
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยทารกโรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำเฉียบพลันด้วยแลคโตบาซิลลัสร่วมกับไบฟิโดแบคทีเรียที่มีชีวิต, ไดอ็อกตาฮีดรัล สเม็กไทท์และสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปาก รูปแบบการวิจัย: เป็นการวิจัยแบบทดลอง open randomized controlled trial สถานที่ศึกษา: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประชากรที่ศึกษา: ผู้ป่วยเด็กอายุ 1 ถึง 24 เดือน ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วยโรคอุจจาระร่วมเป็นน้ำเฉียบพลัน ระหว่างมีนาคม พ.ศ. 2546 ถึงมกราคม พ.ศ. 2547 วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยเด็กอายุ 1 ถึง 24 เดือน ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วยโรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำเฉียบพลัน จำนวน 105 คน จัดเป็น 3 กลุ่ม ด้วยวิธีการสุ่มชนิด Random Number กลุ่มทดลองที่ 1 มีจำนวนผู้ป่วย 36 คน ได้รับการรักษาด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปากร่วมกับแลคโตบาซิลลัสและไบฟิโดแบคทีเรียที่มีชีวิต กลุ่มที่ 2 มีจำนวนผู้ป่วย 34 คน ได้รับการรักษาด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปากร่วมกับไดอ็อกตาฮีดรัล สเม็กไทท์ และกลุ่มควบคุม มีจำนวนผู้ป่วย 35 คน ได้รับการรักษาด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปากอย่างเดียว ผู้ป่วยได้รับการบันทึกความถี่และลักษณะของอุจจาระ และน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงภายหลังการรักษาจากผู้วิจัยและผู้ปกครองของผู้ป่วย ผลการศึกษา: ทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างทางสถิติในด้านข้อมูลพื้นฐานก่อนการรักษา พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้แลคโตบาซิลลัสและไบฟิโดแบคทีเรีย มีระยะเวลาที่มีอุจจาระร่วงลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เท่ากับ 1.6+/-0.7 วัน เมื่อเทียบกับ 2.4+/-1.7 วัน ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้ไดอ็อกตาฮีดรัล สเม็กไทท์ และผู้ป่วยกลุ่มควบคุมตามลำดับ (p<0.001) โดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความถี่ของอุจจาระและน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงภายหลังให้การรักษาในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของระยะเวลาที่มีอุจจาระร่วงภายหลังให้การรักษาระหว่างผู้ป่วยกลุ่มที่ได้ไดอ็อกตาฮีดรัล สเม็กไทท์และกลุ่มควบคุม ผลสรุป: การรักษาผู้ป่วยทารกโรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำเฉียบพลันด้วยแลคโตบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรียที่มีชีวิตลดระยะเวลาที่มีอาการอุจจาระร่วงลงได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
ที่มา
M.Sc
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2546
คำสำคัญ
Diarrhea, children, Bifidobacterium, Dioctahedral, in, Lactobacillus, smectite