การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้ยารับประทานกาบาเพนทินเทียบกับยาหลอก ในการลดความเจ็บปวดหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สุรพจน์ เมฆนาวิน
สมใจ หวังศุภชาติ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลของยากาบาเพนทินในขนาด 300 มก. ต่อวัน โดยเริ่มให้ก่อนการผ่าตัด ในการที่จะช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม รูปแบบการทดลอง : การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบที่มีการปกปิดอาสาสมัคร, ผู้ดูแลผู้ป่วย และผู้ประเมิน สถานที่ทำการวิจัย : โรงพยาบาลวชิรพยาบาล วิธีการศึกษา : ผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำนวน 50 รายได้เข้าร่วมในการวิจัยนี้ มีผู้ป่วย 1 รายถูกคัดออก ผู้ป่วยได้รับการสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (24 ราย) จะได้รับยาหลอก และกลุ่มทดลอง (25 ราย) จะได้รับยากาบาเพนทินก่อนที่จะได้รับการผ่าตัด และได้รับยาเดิมอีกครั้งในอีก 24 ชั่วโมงถัดมา ผู้ป่วยจะได้รับยามอร์ฟีนเพื่อควบคุมความเจ็บปวดโดยผ่านเครื่องควบคุมการให้ยาด้วยตนเองทางหลอดเลือดดำ การบันทึกผลการศึกษาจะเก็บบันทึกปริมาณยามอร์ฟีนที่ผู้ป่วยได้รับ และคะแนนความเจ็บปวดในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาลจะได้รับการบันทึกไว้ ผลการศึกษา : พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของการได้รับยามอร์ฟีนในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ระหว่างกลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลอง (31 มก. เทียบกับ 20 มก., p-value=0.008, ใช้ยามอร์ฟีนลดลงร้อยละ 34) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในส่วนของปริมาณยามอร์ฟีนที่ได้รับใน 24 ชั่วโมงที่สอง, คะแนนความเจ็บปวดหลังผ่าตัด, ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ผลข้างเคียงที่พบได้มากในการศึกษาวิจัยนี้คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน พบได้ร้อยละ 67 สรุป : การให้ยากาบาเพนทินขนาด 300 มก.วันละครั้ง โดยเริ่มต้นก่อนการผ่าตัดสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมลงได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เมื่อคิดเป็นปริมาณยามอร์ฟีนที่ใช้จะลดลงได้ประมาณร้อยละ 34
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546