การทดลองแบบสุ่มตัวอย่าง มีตัวควบคุม และปิดสองทาง ถึงผลการทดลองรักษาผู้ป่วยกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ ด้วยยาราเบพราโซล
อภิชาติ สุรเมธากุล
Sutep Gonlachanvit
บทคัดย่อ
โรคกรดไหลย้อนเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทางคลินิก อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของภาวะกล่องเสียงอักเสบและความผิดปกติในระบบหู คอ จมูก ได้หลายรูปแบบ หลักการวินิจฉัยภาวะกรดไหลย้อนนอกหลอดอาหารหรือสูงกว่าบริเวณหลอดอาหารยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน มีแนวคิดที่จะให้การรักษาภาวะกล่องเสียงอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดจากภาวะกรดไหลย้อนด้วยยาลดกรดก่อนการส่งตรวจเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการตรวจที่อาจไม่จำเป็นออกไป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในปัจจุบันที่เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง ไปข้างหน้า ปิดสองทาง และเปรียบเทียบกับยาหลอกยังมีจำกัดอยู่ การศึกษานี้เป็นการศึกษา แบบสุ่มตัวอย่าง ไปข้างหน้า และปิดสองทาง ถึงผลการรักษาผู้ป่วยกล่องเสียงอักเสบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เปรียบเทียบระหว่างยาราเบพราโซล และยาหลอก โดยมีตัววัดผลเป็นอาการที่ดีขึ้นอย่างน้อย 60% ใน 12 สัปดาห์ ผลการศึกษา การศึกษานี้ทำในผู้ป่วย 30 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย (26.7%) เพศหญิง 22 ราย (73.3%) อายุเฉลี่ย 44.7 ปี พบอาการจุกแน่นในคอบ่อยที่สุด (87%) รองลงมาคือ มีเสมหะมากในคอหรือมีเสมหะช่วงเช้า (80%) เรอเปรี้ยวและแสบร้อนหน้าอก (70%) ตามลำดับ คะแนน reflux symptom index (RSI)ก่อนการรักษาเฉลี่ย 10.57 คะแนน ในกลุ่มราเบพราโซล และ 12.06 คะแนน ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก คะแนน RSI ที่สิ้นสุดการรักษา 4 ในกลุ่มราเบพราโซลและ 5.38 ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก ทั้งสองกลุ่มมีอาการ RSI ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p=0.143) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ป่วยแยกกลุ่มตามผลของ pH monitor พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ pH monitor ให้ผลบวก การรักษาด้วยยาราเบพราโซล ทำให้อาการดีขึ้นได้มากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ขณะที่ยาราเบพราโซล ทำให้อาการดีขึ้นได้ไม่แตกต่างจากยาหลอกในกลุ่มที่pH monitor ได้ผลลบ (p >0.05) ผู้ป่วย 22 ราย ได้รับการส่องกล้อง laryngoscope เพื่อประเมินคะแนน reflux finding scores (RFS) ทั้งก่อนและหลังการศึกษา พบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติทั้งคะแนน RFS ก่อนการรักษา และร้อยละของคะแนนที่ดีขึ้นหลังสิ้นสุดการรักษา ระหว่างกลุ่มที่ได้ยาราเบพราโซล (7.43+-2.82) และกลุ่มที่ได้ยาหลอก (7.63+-2.60) (p = 0.84) นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่เคยได้รับยาลดกรดตัวอื่นแล้วไม่สามารถควบคุมอาการได้ ราเบพราโซลยังสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ถึง 81.78% ไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
Treatment, Laryngitis, Gastroesophageal, reflux