การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการเฝ้าระวังด้านจุลชีววิทยาในงานสุขาภิบาลอาหารโดยใช้ชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้น (เอสไอ-2) ณ จังหวัดสิงห์บุรี ปี 2544
ก่อศักดิ์ จันทรวิจิตรThosporn Vimolket
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ คำนวณต้นทุนประเมินประสิทธิผลและวิเคราะห์ ต้นทุน-ประสิทธิผล จากการเฝ้าระวังด้านจุลชีววิทยา ในงานสุขาภิบาลอาหาร โดยใช้ชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้น (เอสไอ-2) ของจังหวัดสิงห์บุรี ปี 2544 ในกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแผงลอยจำหน่ายอาหาร และกลุ่มโรงอาหารของโรงเรียน โดยเป็นการศึกษาเชิงพรรณนา และเก็บข้อมูลย้อนหลัง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในช่วงที่มีการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 พฤษภาคม 2544 โดยแบ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกเป็น หน่วยงานต้นทุนชั่วคราวและหน่วยงานรับต้นทุน ใช้วิธีการกระจายต้นทุนแบบการกระจายโดยตรง และการกระจายต้นทุนแบบการกระจายตามลำดับขั้น ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนรวมทั้งหมดของการดำเนินงานเท่ากับ 118,841.03 บาท โดยเป็นต้นทุนทางอ้อม ร้อยละ 63.4 ต้นทุนเฉลี่ยต่อตัวอย่างที่ตรวจในกลุ่มแผงลอยจำหน่ายอาหาร เท่ากับ 91.18 บาท/ตัวอย่าง, กลุ่มร้านอาหาร เท่ากับ 75.66 บาท/ตัวอย่าง และกลุ่มโรงอาหารของโรงเรียนเท่ากับ 48.66 บาท/ตัวอย่าง เมื่อพิจารณาตามหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน พบว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อตัวอย่างที่ตรวจของ สถานีอนามัย เท่ากับ 73.52 บาท/ตัวอย่าง, โรงพยาบาลชุมชน เท่ากับ 45.02 บาท/ตัวอย่างและโรงพยาบาลทั่วไป เท่ากับ 44.70 บาท/ตัวอย่าง สำหรับด้านต้นทุน-ประสิทธิผล พบว่ากลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ต้นทุน-ประสิทธิผล ต่ำสุด) คือ กลุ่มโรงอาหารของโรงเรียน มีมูลค่าต้นทุน-ประสิทธิผล เท่ากับ 775.47 บาท และกลุ่มที่มีประสิทธิภาพต่ำสุด (ต้นทุน-ประสิทธิผลสูงสุด) คือ กลุ่มแผงลอยจำหน่ายอาหาร มีมูลค่าต้นทุน-ประสิทธิผลเท่ากับ 923.89 บาท และเมื่อวิเคราะห์ความไวของ ต้นทุน-ประสิทธิผล พบว่า ถ้าอัตราการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ในทุกกลุ่มเป้าหมาย ลดลงจากเดิมร้อยละ 3 เป็นต้นไป จะทำให้กลุ่มแผงลอยจำหน่ายอาหารเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และกลุ่มโรงอาหารของโรงเรียนเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพต่ำสุด ผลการวิจัยจากการศึกษานี้ สามารถช่วยให้ผู้บริหารนำไปวางแผนการดำเนินงาน และบริหารการใช้ทรัพยากร ในการดำเนินงานเฝ้าระวังด้านจุลชีววิทยา ในงานสุขาภิบาลอาหาร โดยใช้ชุดทดสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้น (เอสไอ-2) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ที่มา
M.Sc.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2546
คำสำคัญ
effectiveness, screening, Cost, Food, bacteria, Coliform, Enterobacteriaceae, handling, Microbiology, test