เปรียบเทียบผลการรักษาปัสสาวะรดที่นอนในเด็กไทยระหว่างวิธีใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วยผ้ารองเปื้อนและเครื่องกำเนิดเสียงปลุกกับวิธีที่ใช้กันอยู่ดั้งเดิม : การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มทดลอง
ฐิตวี แก้วพรสวรรค์
Nuntika Thavichachart
บทคัดย่อ
เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการรักษาอาการปัสสาวะรดที่นอนในเด็กไทย ระหว่างวิธีใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วยผ้ารองเปื้อนและเครื่องกำเนิดเสียงปลุกกับวิธีที่ใช้กันอยู่ดั้งเดิม โดยใช้การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างชนิดที่มีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มทดลอง และควบคุมแบบปราศจากอคติ จาก : ผู้ป่วย Primary nocturnal enuresis โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วินิจฉัยด้วยเกณฑ์ทางคลินิกตามหลักวินิจฉัยสากล DSM-IV จำนวน 62 ราย และต้องไม่มีสาเหตุจากโรคทางร่างกาย แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง 31 ราย และอีก 31 รายเป็นกลุ่มควบคุมทั้งสองกลุ่มมีความสมดุลย์กันในเรื่องเพศและชนิดของการปลุกตื่นว่ารู้ตัวดีหรือไม่ ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองจะได้รับการรักษาแบบใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วยผ้ารองเปื้อนและเครื่องกำเนิดเสียงปลุก (pad and bell) ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมจะได้รับการรักษาแบบดั้งเดิม คือ การงดน้ำ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอนและปลุกตื่นก่อนที่จะปัสสาวะรดที่นอน กำหนดระยะเวลาของการรักษา 3 เดือน และติดตามการรักษาเป็นระยะทุก 2 สัปดาห์ เหมือนกันทั้งสองกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มศึกษาจะได้รับการรักษาเฉพาะของแต่ละกลุ่มเท่านั้น พบว่า อัตราการรักษาหายในกลุ่มทดลอง สูงกว่ากลุ่มควบคุมมากกว่า 30% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอัตราการกลับมาเป็นซ้ำในระยะเวลา 6 เดือน หลังหยุดการรักษาในกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่งมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้ว่ากลุ่มควบคุมจะมีจำนวนวันของการปัสสาวะรดที่นอนน้อยกว่ากลุ่มทดลองก็ตาม แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาก่อนจะหายไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ การรักษาปัสสาวะรดที่นอน ด้วยวิธีใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วย ผ้ารองเปื้อนและเครื่องกำเนิดเสียงปลุกมีประสิทธิภาพเหนือกว่าวิธีดั้งเดิมมากทั้งในเรื่องอัตราการหายสูงกว่า และอัตราการกลับมาเป็นซ้ำหลังจากหยุดการรักษาต่ำกว่า นอกจากนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาก่อนผู้ป่วยจะหายก็ไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น แม้ว่าการรักษาปัสสาวะรดที่นอนด้วยเครื่องมือจะเป็นวิธีใหม่ในประเทศไทยและมีใช้เฉพาะโรงพยาบาลศิริราชเท่านั้น แต่มีข้อดีและข้อได้เปรียบทั้งในด้านความประหยัด ปลอดภัย และได้ผลดีกว่าวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันอยู่มาก จึงควรที่จะได้รับการสนับสนุนให้มีการรักษาด้วยวิธีใช้เครื่องมือนี้ให้เป็นที่แพร่หลาย เพื่อเป็นการพัฒนาการรักษาปัสสาวะรดที่นอนในเด็กไทยให้ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
Treatment, Pediatric, Enuresis, urology