เปรียบเทียบผลการรักษากระดูกหักแบบปิดส่วนต้นแขนด้านล่างเหนือคอนดายล์ในเด็กระหว่างการดึงกระดูกเข้าที่แบบปิดและตรึงกระดูกด้วยโลหะชนิดแท่ง กับการผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่และตรึงกระดูกด้วยโลหะชนิดแท่ง : การทดลองทางคลินิกชนิดสุ่มทดลอง
กมลพร แก้วพรสวรรค์จิตร สิทธิอมร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างการดึงกระดูกกับผ่าตัดจัดกระดูก และตรึงด้วยโลหะว่ามีความแตกต่างกันในความโก่งของศอกวัดเป็นมุม โบแมน (Baumann) ในกระดูกหักในเด็กของต้นแขนส่วนล่าง เหนือคอนดายล์, เพื่อเปรียบเทียบความพอใจและราคาของการรักษา รวมทั้งผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และเพื่อหาข้อสรุปว่าควรใช้วิธีการใดเป็นการรักษาที่สมควรให้กับผู้ป่วย โครงสร้างการวิจัย: การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มทดลองชนิดที่มีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มทดลองแบบปราศจากอคติ สถานที่ทำการวิจัย: โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ป่วยและการรักษาที่ให้: ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ที่มีกระดูกหักชนิดนี้ จำนวน 20 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยการสุ่ม กลุ่มแรกได้รับการดึงกระดูกให้เข้าที่ กลุ่มที่สองได้รับการผ่าตัดและจัดกระดูก ทั้งสองกลุ่มได้รับการยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะชนิดแท่ง ผลการทดลอง: ลักษณะทั่วไปของทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีผลกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองดังนี้ อายุ 6.9+-3.1, 6.3+-2.8 (P = 0.66) เพศหญิง : ชาย 1:1, 1:4 (P = 0.35) ข้างที่หัก ขวา:ซ้าย 3:7, 1:4 (P = 1.0) การเคลื่อนและอันตรายต่อเส้นประสาทก็ไม่มีความแตกต่างเช่นกัน (P = 1.0) การติดตามผลได้ครบทุกคน และทุกคนมีค่ามุม Baumann ข้างที่รักษาต่างกับข้างปกติเล็กน้อย = 2.53+-1.8 และ 2.09+-1.7, P = 0.44, 95% CI = -1.2, 2.08 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งคะแนนความพอใจ, การเคลื่อนไหวของข้อปกติและการติดกันของกระดูกได้ 100% ทั้ง 2 กลุ่ม ยกเว้นค่าใช้จ่ายของการรักษาโดยการผ่าตัดสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในแง่ผู้ให้บริการ (P = 0.029) และในแง่มุมของบิดามารดาผู้ป่วย (P < 0.001) สรุป : ในผู้ป่วยเด็กกระดูดหักแบบปิดส่วนต้นแขนด้านเหนือคอนดายล์ ควรได้รับการรักษาโดยการดึงกระดูกเข้าที่แบบปิดและตรึงกระดูกด้วยโลหะชนิดแท่งก่อน ถ้าล้มเหลวจึงสามารถผ่าตัดกระดูกและได้รับผลดีเช่นกัน
ที่มา
M.Sc
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2541
คำสำคัญ
fracture, fixation, Fluoroscopy, Humerus