ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาโรซูวาสทาทิน ขนาด 10 มิลลิกรัม วันละครั้งเทียบกับวันเว้นวัน ในผู้ป่วยนอกที่มีภาวะคอเลสเทอรอลในเลือดสูง
ชุติพร กิติยาดิศัย
Supakit Wongwiwatthananukit
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาโรซูวาสทาทินขนาด 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง และขนาด 10 มิลลิกรัมวันเว้นวัน ในด้าน (1) การเปลี่ยนแปลงระดับไขมัน hsCRP และไฟบริโนเจน (2) ประสิทธิผลในการลดระดับ LDL-C ให้ถึงเกณฑ์เป้าหมายของผู้ป่วยแต่ละราย ตามแนวทางของ NCEP-ATP III (3) อาการไม่พึงประสงค์ และ (4) มูลค่ายา rosuvastatin ใน 1 เดือนต่อร้อยละของ LDL-C ที่ลดลง วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลองชนิด randomized open-labeled, parallel design ดำเนินการศึกษาที่แผนกตรวจโรคผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ระหว่างเดือนกันยายน 2547 ถึง กุมภาพันธ์ 2548 ผู้เข้าร่วมวิจัย 80 ราย ถูกสุ่มเป็น 2 กลุ่มเท่าๆ กัน คือกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษา โดยวิธี block four randomization โดยกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษาได้รับ rosuvastatin 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง และ 10 มิลลิกรัมวันเว้นวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ตามลำดับ เปรียบเทียบผลในด้าน (1) ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงระดับไขมันในเลือด hsCRP และไฟบริโนเจน (2) ร้อยละของผู้ป่วยที่สามารถลดระดับ LDL-C ได้ถึงเป้าหมายตามเกณฑ์ของ NCEP-ATP III (3) อาการไม่พึงประสงค์ และ (4) มูลค่ายา rosuvastatin ใน 1 เดือนต่อร้อยละของ LDL-C ที่ลดลง การประเมินผลพิจารณาจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจร่างกาย และการสัมภาษณ์ผู้ป่วย สถิติที่ใช้เปรียบเทียบคือ Chi-square test, independent t-test, paired t-test, Mann-Whitney U test, Wilcoxon signed-rank test, และ Two-way ANOVA with repeated measures on one factor ผลการวิจัย: ผู้ป่วย 2 กลุ่ม มีข้อมูลพื้นฐานแตกต่างกันในด้าน อายุเฉลี่ย และระดับ hsCRP เริ่มต้น โดยผู้ป่วยกลุ่มศึกษามีอายุเฉลี่ยและระดับ hsCRP เริ่มต้นสูงกว่ากลุ่มควบคุม (p<0.05) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมสามารถลดระดับ TC, TG และ LDL-C ได้มากกว่ากลุ่มศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่การเพิ่มระดับ HDL-C และการลดระดับ hsCRP และไฟบริโนเจนไม่แตกต่างกัน (p>0.05) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษาสามารถลดระดับ LDL-C ได้ถึงเป้าหมายตามเกณฑ์ของ NCEP-ATP III ไม่แตกต่างกัน (p = 0.180) นอกจากนี้การศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษามีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างกัน (p = 0.439) ผู้ป่วยกลุ่มศึกษามีมูลค่ายา rosuvastatin ใน 1 เดือนต่อร้อยละของ LDL-C ที่ลดลง น้อยกว่ากลุ่มควบคุม (17.77 บาท และ 28.62 บาท ตามลำดับ) สรุปผลการวิจัย: การใช้ยา rosuvastatin ขนาด 10 มิลลิกรัม วันเว้นวัน เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาซึ่งมีอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์และประสิทธิผลในการลดระดับ LDL-C ของผู้ป่วยได้ถึงเกณฑ์เป้าหมาย ไม่แตกต่างจากการใช้ยาวันละครั้ง ถึงแม้ว่าประสิทธิผลในการลดระดับ LDL-C จะน้อยกว่าการใช้ยาวันละครั้งก็ตาม
ที่มา
Master of Science in Pharmacy คณะ Clinical Pharmacy จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
Drug, Cholesteral, Hypercholesteremia, utilization