การศึกษาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดร่วมกับการระงับปวดด้วยวิธีหยดยาชาทางช่องเอปิดูราลอย่างต่อเนื่องเปรียบเทียบระหว่าง 0.1 เปอร์เซ็นต์ โรปิวาเคนผสมกับเฟนตานิลและ 0.2 เปอร์เซ็นต์ โรปิวาเคนอย่างเดียวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง
วิมลรัตน์ กฤษณะประกรกิจ
สมใจ หวังศุภชาติ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาอัตราการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดร่วมกับการระงับปวดหลังผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องด้วยวิธีหยดยาชาทางช่องเอปิดูราลอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบระหว่างการใช้ 0.1 เปอร์เซนต์โรปิวาเคนผสมกับเฟนตานิลและ 0.2 เปอร์เซนต์โรปิวาเคนอย่างเดียว ตลอดจนประสิทธิภาพในการระงับปวดด้านอื่นๆ เช่น ระดับความปวด การใช้ยาระงับปวดเสริม ภาวะแทรกซ้อนและความพึงพอใจของผู้ป่วย รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลอง แบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม สถานที่ทำวิจัย: โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระเบียบวิธีวิจัย: ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องและเข้าเกณฑ์การคัดเลือก 54 รายได้รับการทำ continuous epidural block ที่ระดับ L 1-2 หรือ L 2-3 ก่อนวางยาสลบ เมื่อเสร็จผ่าตัดได้แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีสุ่ม กลุ่มควบคุม (R) ได้รับ 0.2%โรปิวาเคนอย่างเดียวขณะที่กลุ่มทดลอง (RF) ได้รับ0.1%โรปิวาเคนผสมกับเฟนตานิล 2 มคก/มล. หยดในอัตรา 8 มล/ชม.เป็นเวลา 21 ชม. ทุกรายได้รับการติดตั้งเครื่อง PCA (Intravenous Patient-Controlled Analgesia) เพื่อให้ morphine เป็นยาระงับปวดเสริมทางหลอดเลือดดำเมื่อต้องการ ประเมินอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ modified Bromage scale ประเมินระดับความปวดด้วย VAS (Visual Analogue Scale) ปริมาณการใช้ morphine เป็นยาระงับปวดเสริมและระดับการชา ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนที่เวลา 4, 8 และ 21 ชม. และประเมินความพึงพอใจต่อการระงับปวดที่เวลา 21 ชม. ผลการศึกษา: ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีความคล้ายคลึงกันในด้านอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และระดับที่ใส่สายเข้าช่องเอปิดูราล ยกเว้นในเรื่องของ ASA status ระยะเวลาในการผ่าตัดและการได้รับยาชาเพิ่มระหว่างผ่าตัดที่กลุ่ม RF มีมากกว่ากลุ่ม R อัตราการเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เวลา 4 ชั่วโมงพบว่าข้อมูลที่ได้ไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน แต่ที่เวลา 8 ชั่วโมงขีดจำกัดล่างของช่วงเชื่อมั่นที่ 95% ของผลต่างอัตราการเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้ป่วยกลุ่ม RF เมื่อเทียบกับกลุ่ม R (-3.7%) บ่งชี้ว่ากลุ่ม RF มิได้ด้อยไปกว่ากลุ่ม R ส่วนที่เวลา 21 ชั่วโมงกลุ่ม RF มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงน้อยกว่ากลุ่ม R (ขีดจำกัดล่างของช่วงเชื่อมั่นที่ 95 % : 1.8%) ทั้งนี้การวิเคราะห์ได้คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องของข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ส่วนประสิทธิภาพในการระงับปวดทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันทั้งในด้านของ VAS และการใช้ morphine ในแต่ละช่วงเวลา ยกเว้นปริมาณ morphine รวมที่พบว่ากลุ่ม RF ใช้ morphine ค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่ม R (12 มก VS 20 มก, p=0.049) ระดับการชา ภาวะแทรกซ้อนตลอดจนความพึงพอใจของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน สรุป อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่พบร่วมกับการระงับปวดด้วยวิธีหยดยาชาอย่างต่อเนื่องทางช่องเอปิดูราลด้วย 0.1% โรปิวาเคนผสมกับเฟนตานิล ที่เวลา 8 ชั่วโมง ไม่ด้อยไปกว่า การใช้ 0.2% โรปิวาเคนอย่างเดียว หลังจากนั้น อาการดังกล่าวพบน้อยกว่า ประสิทะภาพในการระงับปวด ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนและความพึงพอใจของผู้ป่วยไม่แตกต่างกัน แต่มีแนวโน้มที่จะต้องการยาแก้ปวดเสริมน้อยกว่า การใช้ 0.1 % โรปิวาเคนผสมกับเฟนตานิลในการระงับปวดแทนการใช้ 0.2%โรปิวาเคนอย่างเดียว จะมีโอกาสเกิดพิษจากยาชาน้อยกว่า หากสายที่ใส่เข้าไปในช่องเอปิดูราลเคลื่อนเข้าไปในหลอดเลือด
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545
คำสำคัญ
Analgesics, therapy, Painl