การใช้กาวไฟบรินและวัสดุกระดูกปลูกถ่ายในการรักษารอยวิการของกระดูกในโรคปริทันต์อักเสบ
นิตยา จินดาวิจักษณ์
นวลฉวี หงษ์ประสงค์
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลทางคลินิกและภาพถ่ายรังสีของการรักษาความวิการใต้สันกระดูกด้วย 3 วิธีการต่อไปนี้ คือ การผ่าตัดเปิดเหงือกเพื่อทำความสะอาด การผ่าตัดเปิดเหงือกร่วมกับการใช้กาวไฟบริน และการผ่าตัดเปิดเหงือกร่วมกับการใช้กาวไฟบรินและกระดูกปลูกถ่าย โดยศึกษาในฟันที่มีความวิการใต้สันกระดูก 36 รอยโรคจากผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบในผู้ใหญ่จำนวน 17 คน และมีความลึกของร่องลึกปริทันต์อย่างน้อย 6 มิลลิเมตรหลังจากได้รับการรักษาในระยะแรกมาแล้ว ผู้ป่วยได้รับการรักษาแตกต่างกันโดยการสุ่มอย่างง่ายจากกลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ผ่าตัดเปิดเหงือกร่วมกับการใช้กาวไฟบริน และการผ่าตัดเปิดเหงือกร่วมกับการใช้กาวไฟบรินและกระดูกปลูกถ่ายเป็นกลุ่มทดลอง ส่วนกลุ่มที่ผ่าตัดเปิดเหงือกเพื่อทำความสะอาดอย่างเดียวเป็นกลุ่มควบคุม ทำการนัดผู้ป่วยมาขูดหินปูนและขัดฟันเพื่อควบคุมแผ่นคราบจุลินทรีย์เมื่อครบ 1,2,3 และ 6 เดือน วัดผลทางคลินิกโดย วัดระดับการยึดติดของอวัยวะปริทันต์ ระดับร่องลึกปริทันต์ ดัชนีจุดเลือดออก และดัชนีคราบจุลินทรีย์ในเดือนที่ 0,3 และ 6 ด้วย ฟลอริดาโพรบและดิสก์โพรบ วิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีในเดือนที่ 6 ผลการวิจัยพบว่า ทุกกลุ่มการรักษาสามารถทำให้ลักษณะทางคลินิกดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษา โดยผลการรักษาเดือนที่ 6 พบว่า กลุ่มทดลองที่ใช้กาวไฟบริน และกลุ่มที่ใช้กาวไฟบรินกับกระดูกปลูกถ่ายและกลุ่มควบคุม สามารถลดความลึกของร่องลึกปริทันต์ได้ 2.5, 2.95 และ 2.3 มิลลิเมตร ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และเพิ่มระดับการยึดติดของอวัยวะปริทันต์ได้ 0.72, 1.55 และ 0.79 มิลลิเมตร ตามลำดับ โดยพบว่าเฉพาะกลุ่มที่ใช้กาวไฟบรินกับกระดูกปลูกถ่ายที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษา เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มการรักษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) แต่จะพบว่าภาพถ่ายรังสีของกลุ่มทดลองทั้งสอง มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระดับกระดูกที่ดีขึ้น จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การใช้กาวไฟบรินกับกระดูกปลูกถ่ายในการรักษาความวิการใต้สันกระดูกสามารถทำให้ลักษณะทางคลินิกดีขึ้น จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำไปใช้เสริมการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้ใหญ่
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ ปริทันตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2544
คำสำคัญ
โรคปริทันต์อักเสบ, การรักษา, กาวไฟบริน