การบริหารยาไอโซซอรไบด์นโมโนไนเตรดทางปาก กับความสามารถของเยื่อบุผนังหน้าท้องในการแลกเปลี่ยนสารละลายและน้ำในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาทดแทนด้วยการล้างช่องท้องแบบถาวร
เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์
สมชาย เอี่ยมอ่อง
บทคัดย่อ
ที่มาและเหตุผล: พบว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกไตทดแทนด้วยการล้างช่องท้องถาวรอย่างไม่เพียงพอมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายสูง ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะเพิ่มความเพียงพอในการฟอกไตทางช่องท้องโดยการบริหารยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนของเสียและน้ำของเยื่อบุผนังช่องท้อง นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการทดลองใช้ยาจำนวนมากแต่มีเพียงยา nitroprusside เท่านั้นที่มีหลายการศึกษายืนยันถึงความสำเร็จยาดังกล่าวออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดผ่านการเพิ่มขึ้นของ nitric oxide เช่นเดียวกับยาในกลุ่ม nitrates จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการแลกเปลี่ยนสสารต่างๆ ของเยื่อบุผนังช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาทดแทนด้วยการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนและหลังการบริหารด้วยยา isosorbide 5-mononitrate ทางปาก ตัวอย่างและวิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบทดลองเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเยื่อบุผนังช่องท้องในการขจัดของเสียและน้ำในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกไตทดแทนทางช่องท้องถาวรในช่วงที่ได้รับยา ISMN และช่วงที่ได้รับยาหลอก จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ทุกรายจะได้รับทั้งยา ISMN ขนาด 20 มก. จำนวน 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 5 วัน และ ยาหลอก 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน แต่เป็นคนละช่วงเวลากัน (cross over design) ทำการหยุดยาเดิม 7 วันก่อนที่จะให้ยาใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลของยาเก่าเหลืออยู่ก่อนที่จะได้รับยาใหม่ ผลการศึกษา: การบริหารยา ISMN ทางปากสามารถเพิ่ม 1) อัตราการขจัดของเสียที่มีโมเลกุลขนาดเล็กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) วัดโดยมัธยฐานของ MTAC creatinine และ urate เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และ 11 ตามลำดับ 2) อัตราการขจัดของเสียที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ วัดโดยมัธยฐานของ clearance ของ beta2 microglobulin, albumin และ immunoglobulin G เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เชื่อว่ากลไกการเพิ่มขึ้นของอัตราการขจัดของเสียเกิดจากการเติมพื้นที่ผิวของเยื่อบุผนังช่องท้องในการแลกเปลี่ยนของเสียและนำ เนื่องจากสัมประสิทธิ์ในการกั้นขวางคงที่อย่างไรก็ดีการบริหารยา ISMN ทางปากไม่มีผลต่ออัตราการขจัดน้ำออกจากร่างกาย และไม่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรง สรุป: การบริหารยา ISMN ทางปากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเยื่อบุผนังช่องท้องในการแลกเปลี่ยนของเสียทั้งโมเลกุลขนาดเล็กและโมเลกุลขนาดใหญ่จากการเพิ่มพื้นที่ผิวในการแลกเปลี่ยนสารและน้ำของเยื้อบุผนังช่องท้อง เชื่อว่าการบริหารยา ISMN ในระยะยาวจะสามารถเพิ่มความเพียงพอในการฟอกไตทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2543
คำสำคัญ
ไตวายเรื้อรัง, การรักษาด้วยยา, การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, ไอโซซอรไบด์มโนไนเตรด