ประสิทธิผลของการให้เฮปารินโมเลกุลต่ำปรับตามน้ำหนักตัวทางหลอดเลือด เปรียบเทียบกับเฮปารินปรับตามน้ำหนักตัวทางหลอดเลือด ในผู้ป่วยโรคหัวใจที่มาขยายหลอดเลือด
ชัชเวช ศิริคะรินทร์ถาวร สุทธิไชยากุล
บทคัดย่อ
เฮปารินเป็นยาป้องกันเลือดแข็งตัวที่แพทย์ใช้ขณะขยายหลอดเลือดหัวใจมานาน แต่เนื่องจากระดับยาไม่แน่นอนและหมดฤทธิ์เร็ว จึงต้องเจาะเลือดเพื่อปรับและติดตามดูระดับยา อีน็อกซาพารินเป็นเฮปารินโมเลกุลต่ำ มีระดับยาคงที่และออกฤทธิ์นานจึงไม่ต้องปรับระดับยาหรือให้ยาเพิ่มเติม การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้ยาอีนอกซาพาริน กับยาเฮปารินในผู้ป่วย 120 รายที่มาขยายหลอดเลือด แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้ยาอีน็อกซาพารินและกลุ่มที่ได้ยาเฮปาริน วัดระดับ anti-FXa activity ในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มก่อนและหลังได้ยา 10 นาที ติดตามดูผลลัพธ์ทางคลินิกคือการเจ็บหน้าอก การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายและการเสียชีวิตในโรงพยาบาล รวมถึงผลแทรกซ้อนจากเลือดออกหลังถอดปลอกหุ้มสายสวนหัวใจ ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเกิดผลลัพธ์รวมทางคลินิกไม่ต่างกัน กลุ่มที่ได้อีน็อกซาพารินมี 2 ราย คิดเป็น 3% กลุ่มที่ได้เฮปารินมี 5 รายคิดเป็น 8% (p=0.21) มีผู้ป่วยที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายกลุ่มละ 1 ราย และไม่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิต ระดับของ anti-FXa activity ที่มากกว่า 0.5 ยูนิตต่อมิลลิลิตรในกลุ่มอีน็อกซาพารินมีจำนวน 95% และกลุ่มที่ได้เฮปารินมี 98% ผู้ป่วยที่ได้เฮปารินมีค่าเอซีที่ต่ำกว่า 300 วินาทีถึง 45% ผู้ป่วยที่ได้เฮปาริน 1 รายเกิดเลือดออกที่เป็นอันตราย ทั้งสองกลุ่มเกิดเลือดออกใต้ผิวหนัง ภายหลังจากถอดปลอกหุ้มสายสวนหัวใจจำนวน 3 รายเท่ากัน โดยสรุปการใช้ยาอีน็อกซาพารินปรับตามน้ำหนักตัวทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ มีแนวโน้มของการเกิดผลลัพธ์รวมทางคลินิกคืออาการเจ็บหน้าอกซ้ำ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และการเสียชีวิต รวมทั้งเกิดผลแทรกซ้อนน้อยกว่าการใช้ยาเฮปาริน
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
คณะ อายุรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2545
คำสำคัญ
หัวใจ, เฮปาริน