ผลการรักษารอยแผลเป็นนูนคีลอยด์ด้วยการใช้ความเย็นเทียบกับการฉีดยาไทรแอมซิโนโลน อเซ็ตโตไนด์เข้าไปในรอยแผล : การศึกษาเปรียบเทียบโดยมีกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม
ศิริยศ ก่อเกียรติ
จิตรลดา วิภากุล
บทคัดย่อ
รอยแผลเป็นนูนคีลอยด์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป จนถึงปัจจุบันได้มีพัฒนาการรักษาโรคนี้มากขึ้น นอกจากการฉีดยาไทรแอมซิโนโลนที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาเป็นส่วนใหญ่แล้ว มีผู้พยายามนำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ มาใช้ เช่น การผ่าตัด การใช้แสงเลเซอร์ การปิดด้วยแผ่นซิลิโคน และการใช้ความเย็น การศึกษานี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มระหว่างการใช้ความเย็นและการฉีดยาไทรแอมซิโนโลน เพื่อดูผลการรักษารอยแผลเป็นนูนคีลอยด์ด้วยการใช้ความเย็น ผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับการพ่นไนโตรเจนเหลวทุกสามสัปดาห์เป็นจำนวนสามครั้ง และกลุ่มฉีดยาไทรแอมซิโนโลนทุกสามสัปดาห์ จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 43 ราย พบว่า 37 รายมาติดตามการรักษาจนสิ้นสุดการศึกษา ค่าเฉลี่ยร้อยละของปริมาตรรอยแผลที่ลดลงของกลุ่มพ่นไนโตรเจนเหลวเท่ากับ 33.81 ส่วนกลุ่มฉีดยาไทรแอมซิโนโลนลดลงร้อยละ 45.32 ปริมาตรที่ลดลงของทั้ง 2 กลุ่มการทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) แต่ผลข้างเคียงเช่นการเกิดตุ่มน้ำและอาการปวดจากการรักษาในกลุ่มพ่นไนโตรเจนเหลวมีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาสรุปได้ว่า การรักษารอยแผลเป็นนูนด้วยการพ่นไนโตรเจนเหลว ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากวิธีมาตรฐาน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษารอยแผลเป็นนูนต่อไป
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2542
คำสำคัญ
แผลเป็น, ศัลยกรรมใช้ความเย็น, อะเซ็ตโตไนด์, ไทรแอมซิโนโลน