ผลการลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะของยาโลซาร์แทนและยาอีนาลาพริลในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลราชวิถี
สัญญลักษณ์ ตอประเสริฐสมฤทัย วัชราวิวัฒน์
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะของยาโลซาร์แทนและยาอีนาลาพริล ในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่เป็นโรคเบาหวานจำนวน 18 รายที่มารับการรักษาในคลินิกโรคไต โรงพยาบาลราชวิถี การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกมีรูปแบบการวิจัยเป็นแบบ crossover double-blind randomized controlled trial ผู้ป่วยถูกคัดเลือกแบบสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม โดยผู้ป่วยกลุ่มที่1 ได้รับยาอีนาลาพริล 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ตามด้วยยาหลอก 4 สัปดาห์และข้ามกลุ่มการรักษาเป็นยาโลซาร์แทน 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 ได้รับยาโลซาร์แทน 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์ตามด้วยยาหลอก 4 สัปดาห์และข้ามกลุ่มการรักษาเป็นยาอีนาลาพริล 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง อีก 4 สัปดาห์ ก่อนและหลังให้ยาแต่ละชนิดให้ผู้ป่วยเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนและครีเอตินีน เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวัดระดับครีเอตินีน ในเลือด ระดับยูเรียไนโตรเจนในเลือด ระดับโพแทสเซียม แอลบูมิน เอนไซม์ตับ ปริมาตรเม็ดเลือดแดง และวัด ความดันเลือดผู้ป่วยในท่านั่ง รวมทั้งบันทึกอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในระหว่างได้รับยาแต่ละชนิด ผลการศึกษาพบว่าหลังจากผู้ป่วยได้รับยาโลซาร์แทน 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และยาอีนาลาพริล 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะลดลงจาก 4.10 +- 2.86 กรัมต่อ 24 ชั่วโมง เป็น 2.70 +- 2.11 กรัมต่อ 24 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 34.16 (p<0.001) และจาก 3.62 +- 2.86 กรัมต่อ 24 ชั่วโมง เป็น 2.50 +- 2.58 กรัมต่อ 24ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 30.94 (p<0.001) ตามลำดับ ค่าความดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว และความดันของหลอดเลือดแดงเฉลี่ยลดลงจากค่าเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจาก 140.00 +- 10.29 และ 104.07 +- 8.52 มิลลิเมตรปรอท เป็น 132.78 +- 12.74 และ 98.34 +- 9.02 มิลลิเมตรปรอทตามลำดับ (p<0.05) หลังจาก ผู้ป่วยได้รับยาโลซาร์แทน ในขณะที่ลดลงไม่แตกต่างจากค่าเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จาก 136.67 +- 8.40 และ 103.70 +- 7.22 มิลลิเมตรปรอท เป็น 133.89 +- 14.61 และ 100.00 +- 9.63 มิลลิเมตรปรอทตามลำดับ (p>0.05) หลังจากผู้ป่วยได้รับยาอีนาลาพริล ส่วนความดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวลดลงไม่แตกต่างจากค่าเริ่มต้นอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติหลังจากผู้ป่วยได้รับยาทั้ง 2 ชนิด ระดับโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นจากค่าเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจาก 4.45 +- 0.53 เป็น 4.92 +- 0.93 มิลลิอิควิวาเลนท์ต่อลิตร (p<0.05) ค่าการขจัดครีเอตินีนลดลงจาก 29.23 +- 21.38 เป็น 25.5 +- 17.32 มิลลิลิตรต่อนาที (p<0.05) หลังจากผู้ป่วยได้รับยาอีนาลาพริล ในขณะที่ค่าการขจัดครีเอตินีน และระดับโพแทสเซียมไม่แตกต่างจากค่าเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) หลังจากผู้ป่วยได้รับยาโลซาร์แทน นอกจากนี้พบว่า หลังจากผู้ป่วยได้รับยาอีนาลาพริลและยาโลซาร์แทน ค่าครีเอตินีนในเลือด ค่ายูเรีย ไนโตรเจนในเลือด แอลบูมิน เอนไซม์ตับและปริมาตรเม็ดเลือดแดงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับยาโลซาร์แทนและยาอีนาลาพริลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเที่ยบกับยาหลอก (p>0.05) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยในการศึกษานี้ได้แก่อาการปวดศรีษะ มึนงง ปวดหลัง โดยสรุป ยาโลซาร์แทน 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง สามารถลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไตที่ไม่เป็นโรคเบาหวานได้ไม่แตกต่างจากยาอีนาลาพริล 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
ที่มา
เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต
คณะ เภสัชกรรมคลินิก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2545
คำสำคัญ
การรักษา, โรค, ยาอีนาลาพริล, ยาโลซาร์แทน, โปรตีน, ไต