การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ความเข้มแข็งอดทน และคุณภาพชีวิตของสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี
ปานจันทร์ จ่างแก้วรศ.ดร.สุสัณหา ยิ้มแย้ม
บทคัดย่อ
การติดเชื้อเอชไอวีก่อให้เกิดผลกระทบต่อสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีอย่างมากทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนครอบครัว จนอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตของสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ หากสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีไดมีการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและมีความเข้มแข็งอดทนสูงอาจนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ความเข้มแข็งอดทนและคุณภาพชีวิตของสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีและความสัมพันธ์เชิงทำนายระหว่างการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ความเข้มแข็งอดทนและคุณภาพชีวิตของสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มตัวอย่างได้แก่ สตรีที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และยอมรับว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ) ที่อาศัยอยู่ในจงหวัดเชียงใหม่จำนวน 91 ราย เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ แบบวัดความเข้มแข็งอดทน และแบบประเมินคุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณาและหาความสัมพันธ์เชิงทำนายโดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและสหสัมพันธ์การถดถอยพหุคุณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้1. สตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71.79) มีความพึงพอใจระดับมากในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ2. สตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81.30) มีค่าเฉลี่ยความเข้มแข็งอดทนอยู่ในระดับสูง3. สตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81.30) มีค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูง4. ความเข้มแข็งอดทนมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.080, p<0.01) ในขณะที่การเข้าถึงการดูแลสุขภาพไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ความเข้มแข็งอดทนสามารถทำนายคุณภาพชีวิตได้ร้อยละ 65 ในขณะที่การเข้าถึงการดูแลสุขภาพไม่สามารถทำนายคุณภาพชีวิตได้ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและประบปรุงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการส่งเสริมความเข้มแข็งอดทนแก่สตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ที่มา
พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลสตรี
คณะ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปี 2545