การประเมินต้นทุน-อรรถประโยชน์ของการใช้ยา HMG-CoA reductase inhibitors (Statins) เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดปฐมภูมิ
ยุพิน ตามธีรนนท์
Ph.D (Health Economics), Ph.D (Pharmaceutical Economics and Policy), ยศ ตีระวัฒนานนท์, อุษา ฉายเกล็ดแก้ว
บทคัดย่อ
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงจำนวนมากยังไม่ได้รับยาในกลุ่ม statins ขณะเดียวกันผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำจำนวนมากได้รับยา statins ขณะที่ราคายาในกลุ่ม statins ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการให้ยา statins สำหรับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของยาในกลุ่มstatins ที่ใช้สำหรับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดปฐมภูมิ การศึกษานี้เป็นการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์บนพื้นฐานของการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Markov model เพื่อคำนวณต้นทุนและอรรถประโยชน์ซึ่งมีหน่วยเป็นปีสุขภาวะที่ยืนยาวขึ้น (QALY gained) ของการให้ยา statins เปรียบเทียบกับการไม่ให้ยา statins จากการศึกษาพบว่ายา simvastatin, atorvastatin และ pravastatin สามารถลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลันและโรคหลอดเลือดสมองอุดตันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับยา rosuvastatin ไม่พบการศึกษาที่มีการวัดผลลัพธ์ดังกล่าว ส่วนยา fluvastatin ค่าผลลัพธ์ของยาที่ได้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การให้ยาสามัญ simvastatin ได้จำนวนปีสุขภาวะที่ยืนยาวขึ้นมากที่สุดด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดหากความเต็มใจจ่ายของสังคมเท่ากับ 3 เท่าของรายได้ต่อหัวประชาชาติ หรือ 300,000 บาท ต่อปี สุขภาวะที่ยืนยาวขึ้น การให้ยาสามัญ simvastatin มีความคุ้มค่าในผู้ที่มีความเสี่ยงทุกกลุ่ม หากความเต็มใจจ่ายของสังคมเท่ากับ 100,000 บาท ต่อปีสุขภาวะที่ยืนยาวขึ้น การให้ยาสามัญ simvastatin ยังคงมีความคุ้มค่ายกเว้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าร้อยละ 5
ที่มา
ภ.ม. (บริหารเภสัชกิจ)
มหาวิทยาลัยมหิดล
ปี 2551
คำสำคัญ
Cardiovascular Disease, Cost-utility analysis, PRIMARY PREVENTION, QALY, STATIN