ผลของกลุ่มสนับสนุนต่อความรุนแรงของอาการและคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ขณะได้รับยาต้านไวรัส
ชนกพร ศรีประสารรศ.ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ และ อ.ดร.อภิญญา วงศ์พิริยโยธา
บทคัดย่อ
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ในปัจจุบัน แต่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของกลุ่มสนับสนุนต่อความรุนแรงของอาการและคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ขณะได้รับยาต้านไวรัส โดยใช้แนวคิดการจัดการกับอาการของ Dodd และคณะ และแนวคิดเกี่ยวกับการทำกลุ่มสนับสนุนของYalom กลุ่มตัวอย่างคือผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ที่ตรงกับเกณฑ์ที่กำหนด ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล ก. จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 15 คน ตามความสมัครใจ กลุ่มทดลองได้รับการเข้ากลุ่มสนับสนุนสัปดาห์ละสองครั้งติดต่อกันสามสัปดาห์ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วยแบบวัดความรุนแรงของอาการและแบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ที่มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.78 และ 0.85 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย สถิติบรรยาย ไคว์สแควร์ ฟิชเชอร์ การทดสอบค่าที การทดสอบอันดับที่มีเครื่องหมายกำกับวิลคอกซันและการทดสอบแมนวิทนีย์ ยู ผลการวิจัยปรากฏดังนี้ 1. กลุ่มทดลองมีความรุนแรงของอาการโดยรวมหลังการทดลองลดลงจากก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.052. กลุ่มทดลองมีคุณภาพชีวิตหลังการทดลองเพิ่มขึ้นจากก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05โดยสรุป ผลการวิจัยสนับสนุนว่ากลุ่มสนับสนุนช่วยลดการรับรู้ความรุนแรงของอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาต้านไวรัส ดังนั้น ควรมีการนำรูปแบบของกลุ่มสนับสนุนไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ขณะได้รับยาต้าน ไวรัสเพื่อลดการรับรู้ความรุนแรงของอาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่อไป
ที่มา
พย.ม. สาขาวิชา การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
คณะ -
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปี 2551