ประสิทธิผลและความปลอดภัยทางคลินิกของตำรับยาอภัยสาลีในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคงที่ ระดับที่ 1-2
วิวรรณ วรกุลพาณิชย์*, มณฑกา ธีรชัยสกุล, Anutida Tabmee, Manatchaya Mukanachot, Nattawat Peamnguleumสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุช
บทคัดย่อ
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โรงพยาบาลเทิงมีรายงานการใช้ตำรับยาอภัยสาลีรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้ผลดี แต่ไม่มีการวิจัยทางคลินิก การวิจัยในครั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยทางคลินิกของตำรับยาอภัยสาลีในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคงที่ระดับที่ 1-2 โดยเป็นการศึกษา randomized double-blinded placebo-controlled trial มีผู้เข้าร่วมวิจัย ทั้งสิ้น 66 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองได้รับยาอภัยสาลี จำนวน 33 ราย และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก จำนวน 33 ราย ติดตามผลทั้งสิ้น 5 ครั้ง ทุก 30 วัน โดยประเมินอาการทางคลินิก คุณภาพชีวิต ร่วมกับผลการตรวจเลือด วิเคราะห์ผลด้วยสถิติ Independent t-test, Chi-square และ Repeated one–way ANOVA โดยใช้หลัก Intention to teat ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลอง มีค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดและค่าเฉลี่ยระยะทางการเดิน 6 นาทีเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีค่าเฉลี่ยคะแนนความเหนื่อยหลังเดิน 6 นาทีลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ด้านความปลอดภัยพบว่า ผลการตรวจเลือด ก่อนและหลังได้รับยาอภัยสาลีของกลุ่มทดลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ และการประเมินผลกระทบของโรคต่อชีวิตประจำวันของผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มทดลองด้วยคุณภาพชีวิต chronic obstructive pulmonary disease assessment test พบว่าคะแนนลดลงหลังได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การรับประทานยาอภัยสาลีร่วมกับการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผลเพิ่มความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด ลดความเหนื่อย คุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2561, January-April
ปีที่: 16 ฉบับที่ 1 หน้า 34-43
คำสำคัญ
ประสิทธิผล, Efficacy, Safety, Chronic obstructive pulmonary disease, ความปลอดภัย, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, Efficacy, traditional Thai herbal formulary, A-Paisalee, ยาอภัยสาลี