รูปแบบการสั่งใช้ความปลอดภัยและผลต่อคุณภาพชีวิตของตำรับยาทำลายพระสุเมรุ
อาภากร บุญธรรม, ปรีชา หนูทิม, ปิยเมธ ดิลกธรสกุล*
ศูนย์วิจัยผลลัพธ์ทางเภสัชกรรม ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
บทคัดย่อ
             ตำรับยาทำลายพระสุเมรุเป็นหนึ่งในตำรับยาที่มีส่วนผสมของช่อดอกกัญชาที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้การรับรองและกระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นตำรับให้ใช้สำหรับแก้ลมจุกเสียด ลมเมื่อยขบในร่างกาย บรรเทาอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรงและอาการชาในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการสั่งใช้ยา อาการไม่พึงประสงค์และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับตำรับยาทำลายพระสุเมรุโดยทำการศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนของผู้มารับการรักษาที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานในระหว่างวันที่1 ตุลาคม 2562–31ธันวาคม 2563 จากผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 239คน เป็นเพศชายร้อยละ64.02 มีอายุเฉลี่ย48.48±14.31 ปีมีข้อบ่งใช้ส่วนใหญ่คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ(ร้อยละ43.10)รองลงมาคืออัมพฤกษ์หรืออัมพาต (ร้อยละ 28.87)และอาการชา, นอนไม่หลับ,ข้อเข่าเสื่อม, พาร์กินสัน ร้อยละ7.11,6.69,5.86และ5.86 ตามลำดับ รูปแบบการสั่งใช้ยาในขนาดเริ่มต้นส่วนใหญ่คือ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง (ร้อยละ31.38) และ 1 กรัม วันละ 1 ครั้ง (ร้อยละ 30.96) ส่วนขนาดยาคงที่สำหรับใช้ในการรักษาอยู่ในช่วง 0.5ถึง 4.0กรัมต่อวัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับในขนาด 2 กรัมต่อวัน (ร้อยละ 60.93) ข้อมูลด้านคุณภาพชีวิตเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม EQ-5D-5L พบว่า ค่าอรรถประโยชน์เฉลี่ยก่อนเริ่มการรักษา คือ 0.80±0.19และหลังได้รับการรักษาในเดือนที่3คือ0.86±0.16 โดยค่าอรรถประโยชน์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ส่วนการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์พบ 39 เหตุการณ์ ในผู้ป่วย 29 รายเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง ได้แก่ระคายเคืองทางเดินอาหาร (13คน), ร้อนวูบวาบ (5คน),วิงเวียนหรือปวดศีรษะ(4คน),คลื่นไส้ อาเจียน (4คน), ปากแห้งคอแห้ง (3คน) เป็นต้น จึงสรุปได้ว่า การใช้ตำรับยาทำลายพระสุเมรุช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ของผู้ป่วยและมีความปลอดภัย แม้จะพบอาการไม่พึงประสงค์แต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่รุนแรงและสามารถพิจารณาเป็นการรักษาที่เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยได้
 
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2565, January-April ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 41-54
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Adverse events, คุณภาพชี่วิต, Thamlai Phra Sumen formula, cannabis, treatment patterns, ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ, กัญชา, รูปแบบการสั่งใช้ยา, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์