การประเมินคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
นันทิตา กุณราชา, ศักดิ์ดา ธานินทร์*, กัญจนพร ศรีวิชัยดารัช, พิษณุรักษ์ กันทวีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่จัน
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: โรงเรียนผู้สูงอายุถือเป็นรูปแบบของการจัดกิจกรรม ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และเพิ่มพูนในสิ่งที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต การส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่ของผู้สูงอายุที่จะได้แสดงศักยภาพโดยการถ่ายทอดภูมิความรู้ ประสบการณ์ ที่สั่งสมให้แก่บุคคลอื่นเพื่อสืบสานภูมิปัญญา ให้คงคุณค่าคู่กับชุมชน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย หากผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเหมาะสม แบบองค์รวมและเป็นระบบในระยะยาว ย่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างผาสุก และมีสุขภาวะในปั้นปลายของชีวิต กล่าวได้ว่าโรงเรียนผู้สูงอายุ จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีตามความเหมาะสม
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการประเมินผลการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงผสมผสาน (Mix method research) ประกอบด้วยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเป็นนักเรียนของโรงเรียนผู้สูงอายุในอำเภอแม่จัน 13 แห่ง รวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอิงจาก WHOQOL–BREF–THAI ของกรมสุขภาพจิต จำนวน 356 คน และเชิงคุณภาพโดยแบบสัมภาษณ์ จำนวน 130 คน โดยผ่านการวิเคราะห์เนื้อหา และการสอบทานแบบสามเส้า วิเคราะห์โดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติเชิงอนุมานตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหพันธ์แบบสเปียร์แมน
ผลการศึกษา: พบว่าผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตโดยรวมระดับดี เมื่อแยกรายด้านพบอยู่ในระดับดี คือด้านจิตใจและด้านสิ่งแวดล้อม พบอยู่ในระดับปานกลางคือ ด้านสุขภาพกาย และด้านสัมพันธภาพทางสังคม อีกทั้งพบในระดับไม่ดีในด้านสัมพันธภาพทางสังคม ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ได้แก่ สุขภาพผู้สูงอายุเมื่อเปรียบเทียบวัยเดียวกัน รายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย สุขภาพผู้สูงอายุเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สถานภาพสมรส การเป็นสมาชิกในโรงเรียนผู้สูงอายุ ≤3ปี ความถี่การเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียน และระดับการศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05,r=0.216, 0.179, 0.134,0.114, 0.109, 0.105และ 0.104 ตามลำดับ)
สรุปและข้อเสนอแนะ: ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโรงเรียนมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดี แม้จะมีความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายก็ตาม เห็นได้ว่าควรสนับสนุนกิจกรรมในทุกด้าน และเน้นในด้านการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคือ ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายต่างๆ
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2565, December
ปีที่: 14 ฉบับที่ 3 หน้า 155-166
คำสำคัญ
Quality of life, assessment, คุณภาพชีวิต, ผู้สูงอายุ, การประเมิน, elderly people, คุณภาพชี่วิต, Elderly school, โรงเรียนผู้สูงอายุ