การวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและปกปิดสองทางเพื่อเปรียบเทียบแรงกล้ามเนื้อขาและความสามารถในการลุกเดินหลังผ่าตัด ระหว่างสองความเข้มข้นของยาชา Bupivacaine ขณะให้ยาชาเหนือช่องไขสันหลังอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งนรีเวช
วีระนุช ธีระสุนทรวงศ์*, ลลิตา พฤกษ์โสภณ, นรัญลักษมณ์ แสงทองกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี 2 ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 อีเมล: [email protected]
บทคัดย่อ
การผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชเป็นการผ่าตัดใหญ่ การระงับปวดที่ดีและการดูแลซึ่งทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น การลุกเดินหลังผ่าตัดได้เร็ว ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดได้ การใส่สายระงับปวดที่ช่องเหนือไขสันหลัง ช่วยลดความปวดหลังผ่าตัดได้ดี แต่การใช้ยาชาในการระงับปวด พบผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ มีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการลุกเดินหลังผ่าตัด การวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและปกปิดสองทางนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ของการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบแรงกล้ามเนื้อขาและวัตถุประสงค์รองเพื่อศึกษาความสามารถในการลุกเดินหลังผ่าตัด คะแนนความปวดและผลข้างเคียงระหว่างสองความเข้มข้นของยาชา Bupivacaine ผู้ป่วย ASA I-II จำนวน 110 ราย ที่เข้ารับการผ่าตัดมะเร็งนรีเวช โดยใช้การระงับความรู้สึกแบบทั่วไปร่วมกับใส่สายระงับปวดที่ช่องเหนือไขสันหลัง และมีการให้ยาชาในช่วงระหว่างผ่าตัด หลังผ่าตัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม A ให้ยาชา 0.1% Bupivacaine ร่วมกับ Fentanyl 2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร กลุ่ม B ให้ยาชา 0.0625% Bupivacaine ร่วมกับ Fentanyl 2 ไมโครกรัม ต่อมิลลิลิตร ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด มีการบันทึก แรงกล้ามเนื้อขา ความสามารถในการลุกเดินหลังผ่าตัด คะแนนความปวด อุบัติการณ์คลื่นไส้ อาเจียน คัน ความดันโลหิต ผลพบว่าแรงกล้ามเนื้อขาโดยการวัดด้วยวิธี Modified Bromage scale ของกลุ่ม A และ B ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้ป่วยที่ลุกเดินได้ ในกลุ่ม A ร้อยละ 52.9 กลุ่ม B ร้อยละ 68.8 (p=0.110) ที่ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด และจำนวนผู้ป่วยที่ลุกเดินได้ ในกลุ่ม A ร้อยละ 92 กลุ่ม B ร้อยละ 94 (p=0.679) ที่ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ซึ่งไม่มีความต่างกันทางสถิติ นอกจากนี้ คะแนนความปวด ความดันโลหิต อุบัติการณ์คลื่นไส้ อาเจียน คัน ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สรุป แรงกล้ามเนื้อขา ของทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้ป่วยที่ลุกเดินได้หลังผ่าตัดไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ร่วมกับ คะแนนระดับความปวด และภาวะแทรกซ้อนของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ดังนั้น แนะนำว่าอาจใช้ 0.0625% Bupivacaine ร่วมกับ Fentanyl 2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรได้ในการระงับปวดหลังผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2567, December
ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 74-86
คำสำคัญ
Muscle strength, gynecologic oncologic surgery, epidural analgesia, ambulation ability, ผ่าตัดมะเร็งนรีเวช, การใส่สายระงับปวดที่ช่องเหนือไขสันหลัง, แรงกล้ามเนื้อขา, ความสามารถในการลุกเดินหลังผ่าตัด