ระดับคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
พัชรพล ภู่พิทยา*, ศรวิทย์ โอสถศิลป์สถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10230
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณาแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 423 คน โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้คือเครื่องชี้วัดคุณภาพ ชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL– BREF–THAI) และแบบประเมินความเครียด ST-5 โดยระดับคุณภาพชีวิตและตัวแปรแยกประเภทนำเสนอเป็นร้อยละและความถี่ วิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิต โดยใช้การทดสอบไคสแควร์ (Chi-square test) จากนั้นนำมาหาความสัมพันธ์ด้วยการวิเคราะห์ถดถอยลอจิสติกพหุคูณ (Multiple logistic regression analysis) โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05
ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางโดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตอยู่ที่ 77.8 คะแนน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 15.3 คะแนน จากการศึกษามีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีระดับคุณภาพชีวิตไม่ดีอยู่ร้อยละ 20.1 โดยปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ได้แก่ เพศ (ORadj = 3.59; 95% CI: 1.04-12.33) ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ (ORadj = 3.76; 95% CI: 1.49-9.53) สถานะทางเศรษฐกิจ (ORadj = 13.5; 95% CI: 5.59-32.54) และระดับความเครียด (ORadj = 7.90; 95% CI: 3.28-19.05) ในขณะที่ปัจจัยด้านการทำงานที่มีความสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ได้แก่ ระดับรายได้ต่อเดือน (ORadj = 3.03; 95% CI: 1.05-8.79) และลักษณะการจ้างงาน (ORadj = 3.39; 95% CI: 1.29-8.90)
จากผลการวิจัยที่ศึกษาทำให้ได้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในบุคลากรทางการแพทย์ได้ เช่น การรณรงค์เรื่องการลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบุคลากรหรือการปรับตำแหน่งงานและให้ค่าตอบแทนการทำงานแก่บุคลากรอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ที่มา
วารสารพยาบาลทหารบก ปี 2567, May-August
ปีที่: 25 ฉบับที่ 2 หน้า 357-366
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Stress, คุณภาพชี่วิต, ความเครียด, Healthcare personnel, บุคลากรทางการแพทย์