คุณภาพชีวิตของผู้เสพติดฝิ่นหลังเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด: กรณีศึกษาโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน
สำเนา นิลบรรพ์*, เยาวเรศว์ นาคะโยธินกุล, ลัดดา ขอบทอง, สุกุมา แสงเดือนฉาย, ธัญญา สิงโต, ศศิธร คุณธรรม, นันธณา อินทรพรหม, สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนาสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้เสพติดฝิ่นจำแนกตามข้อมูลลักษณะส่วนบุคคลภายหลังเข้ารับบริการการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดตามโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เสพติดฝิ่นที่เข้ารับบริการทางสุขภาพที่ศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอแม่แตง อำเภออมก๋อย และอำเภอแม่ระมาด จำนวนรวม 565 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามคุณภาพชีวิตของผู้เสพติดฝิ่น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธีการของเชฟเฟ่ ผลการวิจัย พบว่า (1) คุณภาพชีวิตของผู้เสพติดฝิ่นหลังเข้ารับบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดทั้ง 6 อำเภอพบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย=3.65) โดยด้านความผาสุกในชีวิต ด้านจิตใจและอารมณ์ ด้านสังคม และด้านร่างกายอยู่ในระดับมากเช่นกัน (ค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.68 – 3.83) ส่วนด้านอาชีพและรายได้พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย=3.21) และ (2) ผู้เสพติดฝิ่นที่มีเพศ อาชีพ รายได้ และระยะเวลาที่เข้ารับบริการที่ศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดต่างกันมีคุณภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2566, May-June
ปีที่: 32 ฉบับที่ 3 หน้า 502-513
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, opium addicts, harm reduction, ผู้เสพติดฝิ่น, การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด