การรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมกับยาเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยกระดูกต้นคอเคลื่อน โรงพยาบาลลำพูน
ชยันตร์ธร ปทุมานนท์, ชไมพร ทวิชศรี, ธีรชัย เพิ่มพานิช, นิสันติ์ คำกาศ, พัชรินทร์ สุรินทร์
Physical Therapy Unit, Lamphun Hospital
บทคัดย่อ
                ผู้ป่วย cervical spondylosis with radiculopathy (CSR) พบได้บ่อยในคลินิกกระดูกและข้อ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดคอร้าวลงแขนและมือ อาจมีอาการชาร่วมด้วย กล้ามเนื้อแขนหรือมืออ่อนแรง เนื่องจากรากประสาทถูกกด ทำให้รบกวนต่อชีวิตประจำวัน การรักษาที่ผู้ป่วยมักได้รับคือการรักษาแบบอนุรักษ์โดยใช้ยา หรือการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยและแพทย์ไม่มีข้อมูลชัดเจนที่แสดงถึงผลของการรักษาทางกายภาพบำบัด วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษาทางกายภาพร่วมกับยา กับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวในผู้ป่วย CSR รูปแบบการศึกษา randomized clinical trial โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายในผู้ป่วย CSR ที่มารับบริการที่คลินิกกระดูกและข้อ และงานกายภาพบำบัดโรงพยาบาลลำพูน จำนวน 40 ราย แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศึกษาได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมกับยา จำนวนผู้ป่วยชาย 5 ราย หญิง 16 ราย  และกลุ่มอ้างอิงได้รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวที่มีผู้ป่วยชาย 4 ราย หญิง 15 ราย บันทึกอาการปวด อาการชา การรบกวน การนอน กิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่ทำให้ปวดหรือชามากขึ้น พร้อมทั้งระดับความเจ็บปวด ตรวจร่างกายซ้ำอีกครั้งเมื่อการรักษาผ่านไป 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบโดยใช้การทดสอบ Wilcoxon rank sum และ exact probability  ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มศึกษาภายหลังได้รับการรักษาแล้ว มีอาการดีขึ้นมากกว่ากลุ่มอ้างอิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกิจกรรมที่เคยทำแล้วปวดมาก เมื่อได้รับการรักษาแล้วมีอาการปวดลดลง 20 ราย (ร้อยละ 95.2) p = 0.006 ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้นานขึ้น 20 ราย (ร้อยละ 95.2) p = 0.033 ระดับความเจ็บปวดโดยรวมลดลง 18 ราย (ร้อยละ 85.7) p < 0.001 ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดร่วมกับยาในผู้ป่วย CSR สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2549, April-June ปีที่: 31 ฉบับที่ 2 หน้า 81-90
คำสำคัญ
Radiculopathy, Spondylosis, Traction, กระดูกอักเสบ, การดึง, อาการปวดร้าว