ค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตที่สูญเสียไปจากการป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ชยันตร์ธร ปทุมานนท์, ชไมพร ทวิชศรี, ณัฐจาพร พิชัยณรงค์, สมศักดิ์ ธรรมธิติวัฒน์, ดุสิต สุจิรารัตน์บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาค่าใช้จ่าย และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และปัจจัยที่มีอิทธิพล เพื่อประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่สูญเสียไปของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ วิธีการศึกษา: ศึกษาเชิงวิเคราะห์ภาคตัดขวาง (analytic cross-sectional study) ใน 5 พื้นที่ของประเทศไทย คือภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา กรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล ประชากรที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งเพศชายและหญิง และมีประวัติสูบบุหรี่ติดต่อกันมาอย่างน้อย 5 ปี (กรณีศึกษาโรคหลอดเลือดหัวใจ) หรือ 10 ปี (กรณีศึกษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) ซึ่งมาติดตามการรักษาในโรงพยาบาลที่ทำการศึกษา (ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน) ในช่วงเวลาที่ทำการรวบรวมข้อมูล กลุ่มอ้างอิงเป็นคนปกติทั่วไปที่มาโรงพยาบาลในฐานะญาติผู้ป่วย ทั้งเพศชายและหญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคเรื้อรัง ไม่พิการ และไม่เจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ ในระยะสองสัปดาห์ก่อนรวบรวมข้อมูล มีอายุใกล้เคียงกับกลุ่มผู้ป่วย และมีภูมิลำเนา (ภาค) เดียวกับกลุ่มผู้ป่วย รวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 โดยใช้แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึก ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลลักษณะประชากร เศรษฐกิจและสังคม การสูบบุหรี่และการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ศึกษา ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งได้แก่ค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกี่ยวกับการแพทย์ ค่าใช้จ่ายทางตรงที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ และค่าใช้จ่ายทางอ้อม ใช้แบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization Quality of Life BREF: WHOQOL-BREF) ในการรวบรวมข้อมูลคุณภาพชีวิต นำเสนอข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง (กลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มอ้างอิง) โดยใช้ chi-squared test หรือ exact probability test, t-test, one-way ANOVA, two-way ANOVA, Mann-Whitney-U test หรือ Kruskall-Wallis test วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิตที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วย เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มอ้างอิง โดยใช้ t-test สำหรับการวิเคราะห์ตัวแปรเดี่ยว และ multiple regression สำหรับการวิเคราะห์ตัวแปรพหุเพื่อปรับความแตกต่างของตัวแปรภายนอก ผลการศึกษา: ค่าใช้จ่ายรวมของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเฉลี่ย 7,656.72 บาทต่อปี มีแนวโน้มคงที่ตลอดการเจ็บป่วย ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายตามอายุที่เพิ่มขึ้น ระยะเวลาการเจ็บป่วยที่นานขึ้น หรือเมื่อโรคมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภายหลังปรับความแตกต่างของเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้แล้ว ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอ้างอิง เฉลี่ยปีละ 7,520.65 บาท หรือเป็น 431 เท่าของกลุ่มอ้างอิง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยสูญเสียไปจากการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทั่วประเทศ เป็นเงิน 4,114 ล้านบาทต่อปี เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอีก 8,297 ล้านบาทต่อปี เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น 12,411 ล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 0.27 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือเท่ากับร้อยละ 4.40 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศในปี พ.ศ. 2541 ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง คุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยต่ำกว่ากลุ่มอ้างอิงทุกด้าน ยกเว้นด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงเมื่อระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ และระยะเวลาการเจ็บป่วย ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เริ่มเป็นโรคในช่วงอายุน้อยกว่า 50 ปี สูญเสียจำนวนปีของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสะสมเฉลี่ย 11.07 ปี ค่าใช้จ่ายรวมของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ย 17,746.44 บาทต่อปี มีแนวโน้มลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และเมื่อระยะเวลาการเจ็บป่วยนานขึ้น แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจวายมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอาการอื่นๆ ภายหลังปรับความแตกต่างของเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้แล้ว ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากลุ่มอ้างอิง เฉลี่ยปีละ 14,767.06 บาท หรือเป็น 164 เท่าของกลุ่มอ้างอิง ค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยสูญเสียไปจากการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจทั่วประเทศ เป็นเงิน 840 ล้านบาทต่อปี เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอีก 14,060 ล้านบาทต่อปี เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสิ้น 14,900 ล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 0.32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือเท่ากับร้อยละ 5.28 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศในปี พ.ศ. 2541 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดีและปานกลาง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต่ำกว่ากลุ่มอ้างอิงทุกด้าน ยกเว้นด้านสิ่งแวดล้อมรายข้อเกี่ยวกับความเพียงพอด้านการเงิน การได้รับข้อมูลข่าวสาร การได้รับการบริการด้านสุขภาพและความสะดวกในการเดินทาง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงเมื่อระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาการเจ็บป่วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เริ่มเป็นโรคในช่วงอายุน้อยกว่า 50 ปี สูญเสียจำนวนปีของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสะสมเฉลี่ย 9.19 ปี วิจารณ์และข้อเสนอแนะ: ค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกี่ยวกับการแพทย์ เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด การลดค่าบริการทางการแพทย์อาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมของผู้ป่วยลงได้ ค่าใช้จ่ายบางส่วนเกิดจากการเดินทางไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลที่ห่างไกลภูมิลำเนา การเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลท้องถิ่น ให้สามารถวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหลอดเลือดหัวใจให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยมากขึ้น อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทางมารับการตรวจและรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือในกรุงเทพมหานครได้ ค่าใช้จ่ายทางตรงที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าสูญเสียรายได้จากการทำงานของญาติผู้ป่วย จึงควรพิจารณาระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลรักษายังโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง เนื่องจากคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงตามความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อชะลอการลดลงของคุณภาพชีวิต จึงควรพิจารณาจัดหาโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพของปอด หัวใจ และหลอดเลือดให้ผู้ป่วย ที่สามารถกลับไปทำต่อเนื่องได้ที่บ้าน
ที่มา
ปี 2544
คำสำคัญ
ค่าใช้จ่าย, การสูบบุหรี่, การศึกษาเชิงวิเคราะห์, บุหรี่, โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่