ผลการรักษาด้วยสุคนธบำบัดต่อความกังวลและความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดต้อกระจก
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์*, อรุณพร อิฐรัตน์, สิริพรรณ เจษฎาวิโรจน์, ภาสวุฒิ ท่อแก้ว, ภาคิน จรัสเสถียร, ีรัณชน์ เหตระกูล9/29 ซอยพหลโยธิน 18 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร: 081-833-2043 Email: [email protected].
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ต้อกระจกเป็นโรคทางตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นในประชากรทั่วโลก แม้การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (phacoemulsification) สามารถฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วยได้ แต่ความวิตกกังวลและความกลัวเจ็บปวดมักส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสบการณ์การผ่าตัดของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลจากการใช้สุคนธบำบัดกลิ่นลาเวนเดอร์และเมนทอลที่มีต่อความกังวลและความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
รูปแบบการศึกษา: การทดลองแบบสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (Single-blinded, randomized controlled trial) โดยคัดเลือกผู้ป่วยจำนวน 89 คนที่นัดผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้เข้าร่วมแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ได้รับสุคนธบำบัด (n = 44) และกลุ่มควบคุม (n = 45) กลุ่มที่ได้รับสุคนธบำบัดได้รับสูตรน้ำมันลาเวนเดอร์และเมนทอล 10 นาที ก่อนผ่าตัด จากนั้นประเมินระดับความวิตกกังวลและความเจ็บปวดก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ independent samplest-tests เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างกลุ่ม โดยกำหนดความสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.05
ผลการศึกษา: กลุ่มสุคนธบำบัดมีค่าเฉลี่ยคะแนนความแตกต่างของความวิตกกังวลหลังผ่าตัดเทียบกับก่อนผ่าตัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (mean STAI difference ± 2SD กลุ่มสุคนธบำบัด = -9.95 ± 10.80 คะแนน vs กลุ่มควบคุม = -1.82 ± 7.95 คะแนน, p-value < 0.001). นอกจากนี้ค่าเฉลี่ยคะแนนความแตกต่างของความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเทียบกับก่อนผ่าตัดในกลุ่มสุคนธบำบัดยังมีค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mean Pain Score differenceกลุ่มสุคนธบำบัด = 0.25 ± 2.52 คะแนน vs กลุ่มควบคุม = 2.34 ± 2.10 คะแนน, p-value < 0.001). ไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงในทั้งสองกลุ่ม
บทสรุป: สุคนธบำบัดลาเวนเดอร์และเมนทอลช่วยลดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคต้อกระจกมีประสบการณ์การผ่าตัด ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา
จักษุเวชสาร ปี 2567, January-June
ปีที่: 38 ฉบับที่ 1 หน้า 21-32
คำสำคัญ
cataract, pain, Phacoemulsification, Randomized controlled trial, ความเจ็บปวด, Anxiety, ความวิตกกังวล, ต้อกระจก, Menthol, Aromatherapy, Lavender, การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง, สุคนธบําาบัด, ลาเวนเดอร์, เมนทอล, การทดลองแบบสุ่มตัวอย่างควบคุม