คุณภาพชีวิตของสตรีภายหลังการตัดมดลูกและรังไข่
ฉวี เบาทรวง, สุพิศ รุ่งเรื่องศรี, อัญชลี ตาบุรี*
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
บทคัดย่อ
                ในแต่ละปีมีรายงานสตรีจำนวนมากได้รับการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวมีผลกระทบต่อสตรีทั้งในด้านร่างกาย จิตใจและสังคมเศรษฐกิจ การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของสตรีภายหลังการตัดมดลูกและรังไข่ในระยะเวลา 6 เดือนและ 12 เดือน ทั้งในภาพรวมและรายด้าน ได้แก่ ความพึงพอใจในชีวิต อัตมโนทัศน์ สุขภาพและการทำหน้าที่ของร่างกาย และสังคมเศรษฐกิจ กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีจำนวน 80 รายที่มารับการตรวจร่างกายตามนัด ภายหลังการผ่าตัด 6 และ 12 เดือนที่คลินิกวัยทอง โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และผ่านการเลือกแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคลและแบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิตที่ดัดแปลงจากแบบวัดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่สร้างโดยสุธาทิพย์ อุปลาบัติ (2536) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที                ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า                1. ค่าเฉลี่ยของคุณภาพชีวิตในภาพรวม และรายด้านในด้านความพึงพอใจในชีวิต ด้านอัตมโนทัศน์ ด้านสุขภาพและการทำหน้าที่ของร่างกาย และด้านสังคมเศรษฐกิจของสตรีหลังการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ในระยะเวลา 6 และ 12 เดือนอยู่ในระดับดี                2. ค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตในภาพรวมและรายด้านของสตรีภายหลังการตัดมดลูกและรังไข่ในระยะเวลา 6 และ 12 เดือนไม่แตกต่างกัน (P>.05)                ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสตรีภายหลังการตัดมดลูกและรังไข่ต่อไป 
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2543, October-December ปีที่: 27 ฉบับที่ 4 หน้า 19-32
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, women with hysterectomy and oophorectomy, สตรีภายหลังการตัดมดลูกและรังไข่